ระหว่าง...รอเทคโนโลยีล่าสุดจากอเมริกา ...
---------------------------------------------------------------------------------
ประเทศไทยเมื่อปี 2546 ...
แปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืดแทบไม่ต้องบอกก็รู้ว่า เกาะสมุย จ.สุราษฎ์ธานี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่มีปริมาณน้ำจืดไม่มากนัก เพราะมีภูมิประเทศเป็นเกาะ ซ้ำต้องเลวร้ายหนักขึ้น เมื่อเกิดภาวะความแห้งแล้งระบาดทั่วทุกหัวระแหงของประเทศ ทำให้ทั้งภาครัฐและชาวบ้านตาดำๆ อยู่กันไม่เป็นสุขเลยทีเดียว และพาลต้องวิ่งหาแหล่งน้ำจืดเพื่อ “กิน-ใช้” แหล่งใหม่มาทดแทนกันให้จ้าละหวั่น “การทำน้ำจืดจากน้ำทะเล” จึงเป็นตัวเลือกแรกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา
ด้วยเหตุนี้เอง
กระทรวงมหาดไทยจึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 46 ให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าปัญหาภัยแล้งที่ส่อเค้าความรุนแรงขึ้นทุกขณะจะขยายวงกว้างไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศด้วย โดยได้สั่งการไปยังกปภ.ให้รีบจัดหาบริษัทเอกชนผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลด้วยระบบรีเวิร์สออสโมซิส (Reverse Osmosis – RO,อาร์โอ) เพื่อขายให้กับกปภ.แล้วแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป
เครื่องกรองน้ำทะเลเป็นน้ำจืดเดินเครื่องแล้วที่เกาะสมุย
ทั้งนี้ นายทวีวัธน์ เตชะกำธรกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารกลุ่มสิ่งแวดล้อม บริษัทล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในทีมงานผู้รับผิดชอบโครงการทำน้ำจืดจากน้ำทะเลบนเกาะสมุย บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า กปภ.ได้มอบหมายให้บริษัท ยูนิเวอร์แซลยูทิลิตี้ จำกัด ในเครือบริษัท อีสท์ วอเตอร์ เป็นผู้รับผิดชอบงานดังกล่าว โดยมีบริษัท ล็อกซเล่ย์ฯ ทำการออกแบบติดตั้งและวางระบบการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลด้วยเงินลงทุน 100 ล้านบาท ซึ่งได้ติดตั้งแล้วเสร็จไปเมื่อปลายเดือนเมษายนปีนี้ (2548) และเริ่มจ่ายน้ำประปาให้ประชาชนบนเกาะสมุยแล้วในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ต่อมานายทวีวัธน์ ได้อธิบายกระบวนการทำงานของระบบอาร์โอว่า เป็นการส่งน้ำด้วยความดันสูงผ่านเยื่อเมมเบรนซึ่งมีลักษณะคล้ายกระดาษที่มีเยื่อบางๆ อยู่ด้านหนึ่งเพื่อกรองเอาอนุภาคสารที่ไม่ต้องการออกจากน้ำ มีหลักการทำงานเหมือนกับเครื่องกรองน้ำระบบออสโมซิสทั่วไป แต่เมมเบรนที่ใช้ในระบบนี้จะมีประสิทธิภาพเหนือกว่า ซึ่งต้องนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น
“เยื่อเมมเบรนที่ใช้กรองน้ำบาดาลและน้ำผิวดินจะมีความละเอียดในการกรองอนุภาคสารได้ในระดับ 0.1 ไมครอน หรือ 1 ส่วน 10 ล้านเมตร และใช้พลังงานไฟฟ้าในการดำเนินการน้อย ขณะที่เยื่อเมมเบรนที่ใช้กรองน้ำทะเลจะมีความละเอียดระดับนาโนเมตร หรือ 1 ส่วน 1 พันล้านเมตร และใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่า โดยในกรณีของน้ำบาดาลและผิวดินจะมีค่าใช้จ่ายในการผลิตต่อหน่วยประมาณ 1 บาท/ลบ.ม. ส่วนการผลิตจากน้ำทะเลจะอยู่ที่ 17 บาท/ลบ.ม.” นายทวีวัธน์ ชี้แจงรายละเอียดให้เราฟัง
เผยผลิตน้ำประปาเสริม กปภ. “ไม่ได้ทำแทน”
สำหรับการวางระบบการผลิตน้ำประปาระบบอาร์โอบนเกาะสมุย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ บริษัทล็อกซเล่ย์ฯ อธิบายว่า มีกำลังการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลอยู่ที่ 2,500 ลบ.ม./วัน ขณะที่ความต้องการน้ำประปาของประชาชนในพื้นที่อยู่ที่ประมาณ 20,000 ลบ.ม./วัน ดังนั้น การดำเนินการของล็อกซเล่ย์จึงเป็นการเสริมการทำงานของกปภ. โดยเฉพาะในช่วงที่ขาดแคลนน้ำดิบเพื่อทำน้ำประปาเท่านั้น ไม่ได้ผลิตน้ำประปาแทนกปภ.ทั้งหมด โดยภายในปีนี้ บริษัทมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปาขึ้นอีก 1,500 ลบ.ม./วัน รวมเป็นกำลังการผลิตทั้งสิ้น 4,000 ลบ.ม./วัน
“น้ำทะเลที่สูบขึ้นมาจากทะเล 1 ลบ.ม. หรือ 1,000 ลิตร เมื่อผ่านการกรองแล้วจะได้น้ำจืดประมาณ 400 ลิตร ส่วนอีก 600 ลิตร จะเป็นน้ำทะเลที่มีความเข้มข้นของเกลือมากกว่าปกติเกือบ 2 เท่า ซึ่งเราจะทิ้งลงทะเลไปโดยไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม ” นายทวีวัธน์ กล่าว
ชี้ราคาน้ำประปา “ยังเท่าเดิม”
นอกจากนี้ เขาได้พูดถึงค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปาต่อหน่วยด้วยว่า เมื่อรวมค่าดำเนินการและค่าบำรุงรักษาแล้ว ราคาน้ำประปาจะอยู่ที่ 17 บาท/ลบ.ม. ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น แต่หากรวมค่าใช้จ่ายในการวางแผนและติดตั้งระบบเข้าไปด้วย ราคาจะขึ้นไปอยู่ที่ 40 บาท/ลบ.ม. มีระยะเวลาคุ้มทุนที่ 5-7 ปี โดยในระบบนี้จะมีค่าใช้จ่ายหลักๆ คือ ค่าไฟฟ้า เนื่องจากต้องอาศัยเครื่องสูบน้ำที่มีแรงดันสูงสูบน้ำผ่านเยื่อเมมเบรนเพื่อกรองเอาอนุภาคสารที่ไม่ต้องการออกไป ทั้งนี้ทั้งนั้น ในปัจจุบันได้มีการนำชุดแลกเปลี่ยนแรงดันเข้ามาร่วมในกระบวนการผลิตด้วย ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้ร้อยละ 60 จากอดีต
“ส่วนค่าใช้จ่ายในการผลิตอื่นๆ ได้แก่ ค่าจ้างบุคลากร และค่าสารเคมีบางชนิด เช่น สารคลอรีน ซึ่งจะใส่ลงไปในบ่อพักน้ำเพื่อฆ่าเพรียงทะเลและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ติดมากับน้ำก่อนที่น้ำทะเลจะถูกกรองผ่านเยื่อเมมเบรนต่อไป และจะใส่สารคลอรีนอีกครั้งหนึ่งหลังจากผ่านการกรองด้วยเยื่อเมมเบรนแล้ว เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจมีอยู่ในท่อประปาซึ่งเป็นเส้นทางเดินน้ำไปยังประชาชนอีกต่อหนึ่ง ทั้งนี้ กปภ.ยังคงเก็บค่าน้ำประปาจากผู้ใช้น้ำตามอัตราเก่าอยู่ที่ประมาณลูกบาศก์เมตรละ 7-8 บาท สำหรับประชาชนทั่วไป และ 10 บาทสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมและรีสอร์ท”
ย้ำ “แหล่งน้ำเสื่อมโทรม” ได้ใช้อาร์โอแน่ !!!
เมื่อย้อนกลับมาถามถึงความจำเป็นของโครงการ นายทวีวัธน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน น้ำจืดหายากขึ้นทุกขณะเพราะแหล่งน้ำตามธรรมชาติได้ถูกทำลายไปมาก น้ำที่มีอยู่จึงสกปรกใช้การไม่ได้ ทางบริษัทฯ จึงมุ่งเน้นธุรกิจเกี่ยวกับน้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้น
“ไม่นานเกินรอสำหรับประเทศไทยที่จะมีการนำน้ำทะเล น้ำผิวดิน และน้ำบาดาล มาผ่านการกรองด้วยระบบรีเวิรส์ออสโมซิสเพื่อใช้งานดังที่หลายประเทศได้ทำกันมานานแล้ว เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าขาดแคลนน้ำจืดเนื่องจากภูมิประเทศเป็นทะเลทราย จึงต้องใช้น้ำทะเลมาทำน้ำจืด รวมถึงกลุ่มประเทศที่ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งก็ใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้ด้วย” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ บริษัทล็อกซเล่ย์ฯ กล่าว
“วอเตอร์ รียูส” เชื่อว่า คนไทยรับได้
นายทวีวัธน์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ด้วยเทคโนโลยีเดียวกันนี้ยังสามารถนำน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียแล้วมากรองด้วยเยื่อเมมเบรนเพื่อใช้งานใหม่ได้ หรือที่เรียกว่า ระบบวอเตอร์รียูส (Water Reused) โดยเขาได้ยกตัวอย่างประเทศสิงค์โปร์ เพื่อนบ้านของไทยว่า เป็นประเทศหนึ่งที่นำเอาน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียแล้วมากรองด้วยเยื่อเมมเบรน เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมโรงงานและโรงแรม ซึ่งไม่ได้เป็นการนำน้ำที่ได้มาดื่มกิน แต่เป็นการใช้เพื่อล้างพื้นและรดน้ำต้นไม้
เมื่อถามถึงการยอมรับจากประชาชน หากต้องนำน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียแล้วมากรองเพื่อใช้งานใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดวิสัยของคนโดยทั่วไป นายทวีวัธน์ กล่าวว่า ในประเทศไทยยังไม่มีการนำน้ำที่ผ่านกระบวนดังกล่าวมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และยังไม่ได้มีการศึกษาในเรื่องนี้แต่อย่างใด
“อย่างไรก็ดี เนื่องจากแหล่งน้ำหายากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นทุกขณะ ทำให้น้ำที่ผ่านการกรองด้วยเยื่อเมมเบรนแล้วจะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในอนาคต และจะมีต้นทุนถูกลงด้วย ซึ่งประชาชนน่าจะยอมรับได้เองในที่สุด”
ชู “น้ำประปาได้มาตรฐาน เสียค่าใช้จ่ายน้อย ปรับใช้ได้หลากหลาย”
สำหรับข้อดีของระบบอาร์โอ นายทวีวัธน์ กล่าวว่า ระบบดังกล่าวมีจุดเด่นที่เทคโนโลยีการผลิตน้ำประปาด้วยเยื่อเมมเบรน น้ำจืดที่ได้จะมีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่การประปากำหนดไว้ นอกจากนี้ยังมีรสชาติจืดกว่าน้ำประปาที่น้ำนำดิบมาจากบ่อกุ้ง ทำให้เมื่อจ่ายน้ำประปาไปแล้ว ประชาชนในพื้นที่ก็พอใจกับคุณภาพของน้ำที่ดีขึ้น
“ขณะเดียวกัน การใช้ระบบนี้ผลิตน้ำประปายังเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษาน้อยเมื่อเทียบกับระบบกรองน้ำชนิดอื่นๆ ทั้งนี้ยังเป็นระบบที่มีขนาดกะทัดรัด สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ใช้เวลาติดตั้งระบบน้อย รวมทั้งใช้พื้นที่ไม่มาก เช่นที่เกาะสมุยสามารถติดตั้งเครื่องกรองน้ำระบบอาร์โอได้ถึง 8 โมดูล (เครื่อง) ในอาคารซึ่งมีพื้นที่เพียง 15 คูณ 30 เมตร” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ บริษัทล็อกซเล่ย์ฯ กล่าว
และเขายังกล่าวเสริมว่า ด้านการบำรุงรักษาเยื่อเมมเบรนนั้นทำได้โดยการชำระล้างคราบสิ่งสกปรกออกด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งหลังการใช้งานในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้มีอนุภาคสารอุดตัน ซึ่งหากใช้เยื่อเมมเบรนกรองน้ำทะเลก็จะมีอายุการใช้งาน 3-5 ปี แล้วจึงเปลี่ยนเยื่อกรองตัวใหม่ สำหรับการกรองน้ำบาดาลและน้ำผิวดินจะเปลี่ยนเยื่อเมมเบรนทุกๆ 7 ปี
“ระบบนี้สามารถนำไปใช้ได้ตั้งแต่โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค ไปจนถึงโครงการในภาคเอกชนเช่น พื้นที่อยู่อาศัยบนเกาะต่างๆ นิคมอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนน้ำ หมู่บ้านจัดสรร และโรงแรมต่างๆ ซึ่งบริษัทล็อกซเล่ย์ฯ ได้ดำเนินการติดตั้งระบบนี้ไปบ้างแล้วในหลายพื้นที่เช่น บนเกาะล้านซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งแล้วที่ฐานทัพเรือพังงาเพื่อใช้ทดแทนระบบประปาเก่าที่เสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิ” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ บริษัทล็อกซเล่ย์ฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมก่อนจบการให้สัมภาษณ์
“เทคโนโลยีแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืด” จึงถือเป็นทางออกหนึ่งสำหรับการแก้ปัญหาความแห้งแล้งที่เกิดขึ้น ณ เวลาปัจจุบัน ซึ่งมันจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนหรือไม่เพียงใดนั้น ต้องติดตามดูกันต่อไป อย่างไรก็ตาม การรักษาแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล และมหาสมุทรไม่ให้เน่าเสีย และใช้ทรัพยากรน้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดอย่างหนักเช่นกัน แม้ว่าเราจะมีเทคโนโลยีแปลงน้ำทะเลที่ดูจะเหมือนไม่มีวันหมดเป็นน้ำจืดได้แล้วก็ตาม
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์