คงต้องรีบโพสต์ แล้วละครับ
พอเขาตั้งเป็นสมาคมได้ผมก็หมดสิทธ์โพสต์
เพราะไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกสมาคม
ต้องถูกอัปเปหิไปจาก เวบ สมาคมแน่ๆระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทยกับระบอบทักษิณแก้วสรร อติโพธิ รูปนายกฯปู พบประชาชนรูปนี้ แรกเห็นในเว๊บไซต์ผมก็ตกใจนึกว่าชาวบ้านกำลังเข้าเฝ้ายกมือไหว้เจ้านาย แต่ดูดีๆก็เป็นแค่นั่งพับเพียบแล้วปรบมือต้อนรับนายกฯปู เท่านั้น เพราะเห็นพวกข้าราชการยืนปรบมือผสมโรงอยู่ข้างๆด้วย สังเกตได้ดังนี้แล้วก็เบาใจไปเปลาะหนึ่ง เหลือแต่ความอางขนางเท่านั้นว่าทำไมหัวหน้าพรรคแดงที่อ้างว่าจะกอบกู้ประชาธิปไตย ถึงยอมพบประชาชนในลักษณะยืนค้ำหัวอย่างนี้ได้
เริ่มตั้งคำถามอย่างนี้แล้ว ผมก็เลยต้องถามต่อไปอีกว่าแล้วทำไม
ชาวบ้านเหล่านี้เขาถึงยอมนั่งฟังกันอย่างนี้ได้ ถ้าเป็นชาวเมืองคงไม่ยอมนั่งอย่างนี้เป็นแน่ ลึกลงไปในรูปนี้มันมีความจริงทางวัฒนธรรมความนึกคิดอะไรที่แฝงฝังอยู่ ก็เป็นข้อที่ผมขอสืบค้นมาเสนอ ดังต่อไปนี้
ระบบอุปถัมภ์สังคมไทยถูกสิงสู่ด้วยระบบอุปถัมภ์มาเนิ่นนาน ผู้คนมีความเป็น
ปัจเจกต่ำติดพวกติดเหล่าติดสี รวมอยู่ด้วยกันด้วยการพึ่งพาอาศัยและบุญคุณจนนักวิชาการฝรั่งเห็นว่าเป็นสังคมที่มีโครงสร้างหลวมมากๆ เหมือนก้อนกรวดที่มากองอยู่ด้วยกันเฉยๆเท่านั้นเอง
ระบบอุปถัมภ์อย่างนี้เป็นดินอุดมของวัฒนธรรมอำนาจนิยม เพราะ
ผู้คนมีตัวตนอ่อนแอยืนหยัดเป็นเสรีชนที่เข้มแข็งไม่ได้ ความคิดเรื่องสัญญาประชาคม ว่าราษฎรทุกคนเป็นเสรีชนที่นำประโยชน์สาธารณะมามอบให้รัฐดูแล จนรัฐต้องเป็นเพียงผู้จัดการ เป็นเพียงดาวพระเคราะห์ที่รับแสงไปจากประชาชนผู้เป็นดาวฤกษ์ไปทำงานในกรอบรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องที่เข้าไปในจิตใจและวิญญาณของคนไทยได้ยากยิ่ง แม้จนปัจจุบัน
ระบอบทักษิณ๑( ๒๕๔๔ – ๒๕๔๙) : แปลงผู้นำระบบอุปถัมภ์เป็นร้าน 7/11
คุณทักษิณเคยหลงเชื่อพยายามจะตั้งพรรคการเมืองตามความคิดใหม่อยู่ระยะหนึ่ง แต่ก็มาได้คิดแล้วหันมาตั้งพรรคไทยรักไทยแบบร้าน 7/11 คือกว้านนักการเมืองผู้กว้างขวางโดยโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว เข้ามาเปิดเป็นเครือข่ายพรรคในพื้นที่ โดยพรรคจะอุดหนุนสินค้านโยบาย กระสุนและการตลาดอย่างเต็มพิกัด จนบรรดาผู้กว้างขวางผู้มีทำเลทางการเมืองอยู่ในพื้นที่ พากันยอมตนมาเปิดสาขาอย่างมากมาย ทำลายระบบค้าขายลงทุนทางการเมือง ประเภทยี่ปั๊วะ ซาปั๊ว บวกร้านโชว์ห่วย ในท้องถิ่นต่างๆของภาคเหนือและอีสาณอย่างราบคาบไปโดยลำดับ จนได้รัฐบาลทักษิณ ๒ ที่ยึดเสียงข้างมากเด็ดขาดในปี ๒๕๔๘-๔๙ ในที่สุด
นอกจากยุทธศาสตร์การตลาดที่เข้ายึดโครงข่ายระบบอุปถัมภ์มาเป็นสาขาได้อย่างชาญฉลาดแล้ว ในแง่ฝ่ายผลิตหรือการออกนโยบายต่างๆนั้น ก็เปิดศักราชของขวัญประชานิยม ตรงเข้าสู๋รากหญ้าอย่างแทงใจดำทั้ง โครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โอท๊อป บ้านเอื้ออาทร ทั้งหมดนี้ ล้วนประเคนเข้าสู่ตลาดการเมือง ท่ามกลางกระแสตอบรับที่ล้นหลามยิ่ง
ระบอบทักษิณ ๒ (๒๕๕๐-๒๕๕๔/๑) :
แปลงระบบอุปถัมภ์เป็นมวลชน หลังรัฐประหาร คมช. โครงข่าย 7/11 ของระบอบทักษิณยังคงดำรงอยู่ และโชว์ยอดขายอย่างล้นหลามในการเลือกตั้งปี ๒๕๕๐ จนได้อำนาจรัฐด้วยรัฐบาลสมัคร และรัฐบาลสมชาย ที่ต้องเผชิญกับการขับไล่ของเสื้อเหลืองและคดีความจนพ้นจากอำนาจรัฐบาลปี ๒๕๕๒ การต่อสู้ของระบอบทักษิณจึงได้เพิ่มนวตกรรมทางมวลชนปฏิวัติ สร้างขบวนการต่อสู้สีแดง เปิดการต่อสู้ทางจิตวิทยาการเมือง หลอมผู้คนมาเป็นกำลังเคลื่อนไหวทั้งในเมืองและในชนบทขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขบวนการมวลชนแดงที่ว่านี้ ไม่ต้องอาศัยธงชาตินิยมหรือกรรมาชีพอะไรมาชี้นำ อาศัยแต่โครงสร้างระบบอุปถัมภ์ที่มีอยู่แล้วในสังคมรากหญ้าทั้งในเมืองและในชนบทมาเป็นฐาน โดยสอดใส่ความเกลียดชังหมู่ด้วยวาทะกรรมไพร่ –อำมาตย์, กระจายตัวปรากฏตัวทั้งโดยการจัดตั้งในชุมชน โดยเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียมและวิทยุชุมชน แล้วป้อนซ้ำด้วยความเคลื่อนไหวต่อสู้ที่ต่อเนื่อง มีคุณ
ทักษิณปรากฏตัวให้เห็นผ่านจอเป็นผู้นำ พร้อมผู้ตามที่สวามิภักดิ์ให้มวลชนดูอยู่ตลอดเวลา ผ่านไปไม่กี่ปีก็เกิดเป็นตัวเป็นตนให้เห็น ประกอบเป็นกำลังทำลายการประชุมอาเซียน และยึดราชประสงค์ได้ถึงสองครั้งสองครา
ถึงตรงนี้ก็น่าจะเห็นกันแล้วว่า คุณทักษิณมีความสามารถในการหยิบ
ยืมทั้งความคิดและขบวนการผู้คนที่มีอยู่หลากหลายในสังคมไทย มาใช้ได้อย่างชำนิชำนาญยิ่ง ทั้งการตลาดของธุรกิจทุนนิยมใหม่, ทั้งการพัฒนาชนบทดูแลรากหญ้าของกระแสเอ็นจีโอ, จนมาล่าสุดก็คือเทคนิคการจัดตั้งมวลชนของ พคท.ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้พรรคการเมืองดั้งเดิมกลายเป็นยาหมดอายุไปโดยลำดับ
ระบอบทักษิณ ๓ ( ๒๕๕๔/๒ - ) : อุปถัมภ์สุดขั้ว
สินค้าประชานิยมของระบอบทักษิณในยุคนายกฯปู นี้ มีลักษณะใหม่ที่ต่างจากยุคแรกเป็นบางประการ กล่าวคือ
๑. ขับเน้นคำสัญญาที่แทงใจดำเพื่อดึงคะแนนนิยมให้กว้างและแรงที่สุด ทั้งในเมืองและชนบท ทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ โดยไม่ต้องสนใจการบริหารจัดการและผลกระทบใดๆ ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ๓๐๐ บาท,เงินเดือนปริญญาตรี ๑๕,๐๐๐ บาท,จำนำข้าว ๑๕,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ บาท, น้ำมันราคาถูกเฉียบพลันโดยเลิกกองทุนน้ำมัน,ยกเว้นภาษีบ้านหลังแรก- รถยนต์คันแรก, พักหนี้เกษตรกรทั่วประเทศ
๒. ป้อนความรู้สึกทันสมัยและเสมอภาคให้ชาวนาหรือผู้ปกครอง โดยบัตรเครดิตชาวนา บัตรเครดิตวินมอร์เตอร์ไซค์และคอมพิวเตอร์นักเรียน
๓. เลิกนำเสนอเรื่องการปฏิรูปคุณภาพในระยะยาว ทั้งความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตไทย หรือคุณภาพการศึกษา
๔. วินัยการคลังเลิกคิด เลิกเป้าหมายงบประมาณสมดุล หรือเพดานเงินเฟ้อ เพิ่มความสามารถในการกู้ยืมหรือลงทุน โดยอาศัยหลักประกันจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่กองอยู่เต็มธนาคารชาติ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นประชานิยมที่คุณทักษิณจัดให้ใน พศ.นี้อย่าง
สุดแรงเกิด ซึ่งก็ต่างจากสมัยระบอบทักษิณ ๑ เป็นอย่างมาก เพราะทุ่มเทตั้งหน้าตั้งตาหาคะแนนเสียงให้มากที่สุดจนมีลักษณะกระหืดกระหอบ คิดไปทำไป ปรึกษาไป แก้ไขไป พลิกไปเรื่อยๆ ในปัจจุบันกาลเท่านั้น อนาคตประเทศโดยรวมเป็นอย่างไรไม่ต้องพูด อย่างที่เห็นได้ชัดขึ้นทุกทีๆแล้ว
น่าติดตามในเชิงวิชาการเป็นอย่างยิ่งว่าในเป้าหมายประชานิยม
ที่กำหนดไว้สูงส่งเร่งรัดครอบคลุมทุกภาคส่วนด้วยการนำจากนอกประเทศที่นำได้จำกัดอย่างนี้ ระบอบทักษิณจะสามารถอาศัยสรรพนวัตกรรมของทุนนิยมใหม่,มวลชนปฏิวัติ และเอ็นจีโอ มาพัฒนาระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทยจนเป็นระบบอำนาจที่เข้มแข็งยั่งยืนได้หรือไม่
สำหรับเราคนไทยเองนั้น ก็น่าจะหวังง่ายๆตามประสาว่า “ ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ ประเทศไทยไม่พัง” เท่านั้น ก็น่าจะพอแก่สายพันธุ์ของตนแล้ว
.....................................