เทน้ำที่อาบให้เด็กทิ้ง อย่าเทเด็กทารกทิ้งไปด้วย ! โดย เกษียร เตชะพีระ
วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:15:54 น.
มติชน กระแสทัศน์ 27 กรกฎาคม 2555
หลังคณะนิติราษฎร์แถลงข่าวสืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีมีผู้ยื่นคำร้องว่าการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาขัดมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ศกนี้ โดยเสนอให้ "แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญและจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ" (
www.enlightened-jurists.com/blog/66) แล้ว ปฏิกิริยาตอบกลับก็เป็นไปอย่างดุเดือดเลือดพล่านดังที่คาดหมายได้ ในจำนวนนั้น บ้างก็มีการยกเหตุผลข้อมูลมาประกอบข้อโต้แย้ง แต่บ้างก็เป็นผรุสวาทด้วยความโกรธเกลียดหวาดระแวง โดยมิพักฟังเหตุผลข้อมูลของคณะนิติราษฎร์ผู้เสนอเลย
ในท่วงทำนอง...."อคติครองใจให้คับแคบ สองมือแนบบังตาหาเห็นไม่ สองนิ้วอุดรูหูปิดรูใจ อวิชชาเป็นใหญ่แทนปัญญา"
นี่เป็นที่น่าเสียดาย เพราะข้อเสนอในเรื่องสำคัญที่เป็นปัญหาของบ้านเมืองมาหลายปีนี้ ควรแก่การนำมาพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบเยือกเย็น ย่อมเป็นธรรมดาที่ไม่มีข้อเสนอไหนสมบูรณ์แบบ เพราะต่างก็มองจากมุมเฉพาะของตัว เห็นปัญหาบางอย่างและเน้นให้คำตอบบางเรื่อง แต่มันจะคลี่คลายพัฒนารอบด้านขึ้นได้ ก็โดยผ่านการขัดเกลาแลกเปลี่ยนในเวทีสาธารณะอย่างตั้งใจฟังและจริงจังกับบรรดาผู้ที่มองจากมุมอื่น เห็นปัญหาอื่นและเสนอคำตอบอื่นโดยบริสุทธิ์ใจเท่านั้น
ส่วนตัวผม เมื่อครุ่นคิดกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ในขั้นต้นแล้ว ก็อดคิดถึงภาษิตประโยคหนึ่งของฝรั่งไม่ได้ว่า
"Don′t throw the baby out with the bathwater!"หรือในพากย์ไทยคือ : "เทน้ำที่อาบให้เด็กทิ้ง อย่าเทเด็กทารกทิ้งไปด้วย!"
เรื่องนี้พูดไม่ง่าย และคนจำนวนไม่น้อยอาจจะโกรธและเข้าใจผิดเพราะความร้อนแรงของภาวะขัดแย้งเฉพาะหน้าทางการเมือง แต่ผมขออนุญาตพูดให้เพื่อนมิตรฟังด้วยความหวังดี อาจจะขัดหูเพื่อนบ้าง ก็ต้องขออภัย ถือว่าพยายามทำตามหน้าที่ของเพื่อนที่พึงมีต่อกัน
ตามอุปมาอุปไมยข้างต้น ตุลาการการเมืองที่ตีความกฎหมายโดยพลการและขยายอำนาจจนล่วงล้ำก้ำเกินเขตอำนาจโดยชอบของตน อาจเปรียบได้กับ "น้ำที่อาบให้เด็ก"
ส่วนสถาบันตุลาการที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของเสียงข้างน้อยกลุ่มต่างๆ จากอำนาจเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งนั้น เป็นสิ่งจำเป็นในระบอบเสรีประชาธิปไตย เปรียบเหมือน "เด็กทารก" ที่ควรเก็บรักษาไว้
ข้อชวนคิดคือ ในกระบวนการที่เราหาทางแก้ไขปัญหาตุลาการการเมือง อย่าพลอยเท "เด็กทารก" ทิ้งไปกับ "น้ำที่อาบให้เด็ก" ด้วย
ในทางรัฐศาสตร์ แนวโน้มอันตรายของรัฐบาลเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง ที่สำคัญมีด้วยกัน
4 ประการ กล่าวคือ : -
1) รัฐบาลเสียงข้างมากอาจบิดเบือนฉวยใช้อำนาจรัฐในมือเพิ่มโอกาสให้ฝ่ายตนชนะเลือกตั้งกลับสู่อำนาจอีก อาทิ การเลือกตั้งสกปรก พ.ศ.2500 ของพรรคเสรีมนังคศิลาฝ่ายรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม, และเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ใช้อำนาจรัฐสกัดจุดพรรคคู่แข่งอย่างเข้มข้นในการเลือกตั้งทั่วไปหลายๆ ครั้ง เป็นต้น
2) รัฐบาลเสียงข้างมากรวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่อาจจงใจละเลยหลักนิติรัฐเพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ร่วมของตนหรือเพื่อสนองอารมณ์ความรู้สึกร้อนแรงเฉพาะหน้า แล้วไปก้าวล่วงสิทธิของเสียงข้างน้อย โดยเฉพาะในยามสงคราม การก่อการร้ายหรือสถานการณ์คับขันหน้าสิ่วหน้าขวาน อาทิ การปราบปรามสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมประท้วงอยู่ในธรรมศาสตร์ เมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519, การฆ่าตัดตอนผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติด 2,000 กว่าคน, การสลายการชุมนุม และขนย้ายผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต 80 กว่าคนที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส, การสั่งห้ามเผยแพร่วีซีดีกรณีตากใบโดยทางราชการ เป็นต้น
3) รัฐบาลเสียงข้างมากรวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่อาจจงใจละเลยสิทธิของชนเชื้อชาติ หรือศาสนาส่วนน้อยเนื่องจากอคติลำเอียง ความเกลียดชัง ความไม่เข้าใจทางเชื้อชาติศาสนาที่หยั่งลึกยาวนานและไม่ได้รับการใส่ใจแก้ไข อาทิ มาตรการรัฐนิยมและชาตินิยมอื่นๆ ที่เลือกปฏิบัติและจำกัดกีดกันสิทธิของคนจีน, คนมลายูมุสลิมและชาวคริสต์สมัยรัฐบาลพิบูลสงคราม ก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, กระแสต่อต้านคนญวนเนื่องจาก "โรคจู๋" ระบาดช่วงปี พ.ศ.2519, กระแสเกลียดชังคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แสดงออกแพร่หลายดกดื่นตามเว็บบอร์ดต่างๆ หลังเหตุไม่สงบชายแดนภาคใต้กลับปะทุขึ้นมา เป็นต้น
4) ประชาชนส่วนใหญ่อาจถูกปลุกระดมจนอารมณ์พลุ่งพล่านเกรี้ยวกราดกลายเป็นม็อบ กระทำการละเมิดหลักนิติรัฐและสิทธิของเสียงข้างน้อย หรือกดดันให้ผู้แทนเสียงข้างมากกระทำเช่นนั้น เช่น ม็อบประชาทัณฑ์ฆ่าโหดนักศึกษาที่สนามหลวงและธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เป็นต้น
ในระบอบประชาธิปไตย มีกลไกมาตรการใหญ่ๆ 4 ชนิดที่ใช้มาป้องกันกำกับควบคุมการใช้อำนาจอย่างไร้ขีดจำกัดของเสียงข้างมาก ได้แก่ : -
1) บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องใช้มติเสียงข้างมากเป็นพิเศษในการลงมติบางกรณี เช่น สองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแทนเสียงข้างมากธรรมดาในกรณีรัฐสภาลงมติยืนยันร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภาหรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา (มาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ 2550), หรือบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ถ่วงเวลาลงมติเนิ่นช้าออกไปเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาอารมณ์สงบเยือกเย็นลง เช่น การให้รอไว้สิบห้าวันหลังพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมวาระที่สองเสร็จแล้ว ก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาในวาระที่สาม (มาตรา 291 ข้อ 5 ของรัฐธรรมนูญ 2550) เป็นต้น
2) ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีคณะตุลาการอันประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์ส่วนน้อย-ได้มีอำนาจทบทวนยับยั้งการที่เสียงข้างมากในสภาจะละเมิดรัฐธรรมนูญ
3) การแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นฝักฝ่ายเพื่อคานอำนาจกัน ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ, บริหาร, ตุลาการ รวมทั้งบทบาทของสถาบันสื่อมวลชนนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ (บางครั้งเรียกว่า "อำนาจที่ 4") หรือแม้แต่ธนาคารชาติ (ในแง่การเงินการธนาคาร) ในการเป็นหมาเฝ้าบ้าน คอยป้องปรามการบิดเบือนฉวยใช้อำนาจของเสียงข้างมากก็จัดอยู่ในข่ายนี้
4) การจัดวางกลไกตรวจสอบ-ถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ ในระบบ เช่น ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 110 ของรัฐธรรมนูญ 2550), กลไกการยื่นกระทู้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี (มาตรา 158-160 ของรัฐธรรมนูญ 2550), วุฒิสภาตรวจสอบทบทวนกฎหมายที่ผ่านโดยสภาผู้แทนฯ (มาตรา 147-149 ของรัฐธรรมนูญ 2550), พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาแล้วและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา เพื่อให้พิจารณาทบทวนเมื่อพระองค์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย (มาตรา 151ของรัฐธรรมนูญ 2550), องค์การมหาชนอิสระต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, ผู้ตรวจการแผ่นดิน (หมวด 11 ของรัฐธรรมนูญ 2550) เป็นต้น
น่าเสียดายที่ว่าเช่นเดียวกับระบบจำนวนมากของบ้านเมืองหลังรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 และหลังความขัดแย้งร้อนแรงทางการเมืองหลายปีที่ผ่านมา ระบบตุลาการของเรากำลังเสียดุลและจำเป็นต้องปรับดึงเข้าสู่จุดสมดุลใหม่
เรื่องนี้ต้องทำไม่ช้าก็เร็ว มิฉะนั้นการสร้างความยุติธรรมในบ้านเมืองก็จะเรรวนไปหมดและยิ่งเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น แก้ไขยากขึ้น
แต่ไม่ว่าจะในรูปและชื่อเดิมว่าศาลรัฐธรรมนูญ หรือในรูปและชื่อใหม่ว่าคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ หรืออื่นใดก็ตาม การทำหน้าที่ (function) ในการจำกัดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของเสียงข้างมาก ไม่ให้ละเมิดล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน ของบุคคลและเสียงข้างน้อย ยังมีความจำเป็นอย่างที่จะมองข้ามหรือละเลยหรือปฏิเสธเสียมิได้ อย่าลืมว่าเสียงข้างน้อยไม่ได้มีแต่ชนชั้นนำกลุ่มตรงข้าม แต่ยังมีเสียงข้างน้อยทางอุดมการณ์ เสียงข้างน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนา
รวมทั้งเสียงข้างน้อยทางเพศสภาพอยู่ด้วยเสมอในสังคมของเรา ซึ่งเอาเข้าจริง เราทุกคนทุกฝ่ายมีสิทธิเป็นและได้เคยเป็นเสียงข้างน้อยมาในสถานการณ์ต่างๆ กันไป การลิดรอนกลไกอำนาจสถาบันที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมาก (non-majoritarian institutions)
จึงควรคำนึงถึงความจำเป็นของกลไกถ่วงดุลและสมดุลที่เหมาะสมว่าจะคงอยู่ตรงไหน อย่างไรด้วย
บ้านเมืองเราเคยเอนเอียงไปทางแอนตี้เสียงข้างน้อยมากช่วงก่อนรัฐประหาร 2549, แล้วก็กลับมาเอนเอียงไปทางแอนตี้เสียงข้างมากอย่างหนักช่วงหลังรัฐประหาร 2549, ในกระบวนการปรับแก้หาสมดุลใหม่ ผมหวังว่าเราจะรอบคอบระมัดระวัง เก็บรับบทเรียนจากความโน้มเอียงที่ผิดพลาดทั้งสองรอบนั้นไว้ประกอบการพิจารณา
ไม่เหวี่ยงไปทางตรงข้ามจนเสียกลไกเครื่องมือที่จำเป็นบางอย่างสำหรับระบอบเสรีประชาธิปไตยไป
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1343352395&grpid=01&catid=02&subcatid=0200