เทคนิคการบริหารชีวิตหลังเกษียณสำหรับคนรุ่นใหม่ (ตอนที่ 2)
ณรงค์วิทย์ แสนทอง
narongwit@peoplevalue.co.th เมื่อตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึงคำจำกัดความของคำว่า “ เกษียณ ” ไปแล้ว และทิ้งท้ายไว้ว่าจะนำเสนอแนวทางในการเกษียณตัวเองออกจากงานประจำ วันนี้ผมขอนำเสนอเทคนิคและแนวทางในการวางแผนเพื่อเกษียณตัวเองจากการเป็นลูกจ้างดังนี้
ถามตัวเองว่าอยากเกษียณออกจากงานประจำหรือไม่ เพราะอะไร ?
คำถามนี้ต้องเป็นคำถามแรกสำหรับทุกคน เพราะถ้ายังไม่มีคำตอบ และตอบว่า “ ไม่อยาก ” ก็อย่าเพิ่งไปสร้างความลำบากให้กับชีวิตเลย ทำงานเป็น “ มนุษย์เงินเดือน ” ทำงานไปเดือนๆรับเงินไปเดือนๆก็สบายดีอยู่แล้ว อย่าหาเรื่องให้ตัวเองลำบากมากไปกว่านี้เลยครับ
แต่..ถ้าใครที่ตอบว่า “ อยาก ” ก็ยังมีนัยอยู่สองอย่างคือ คุณอยากเกษียณเพราะเบื่องานประจำที่ทำอยู่ หรือไม่ก็คุณมีไฟที่อยากจะทำอะไรที่คุณคิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ใครที่อยากเกษียณเพราะเบื่องานประจำ ขอแนะนำว่าขอให้คิดเสียใหม่ และอย่าเพิ่งคิดหรือทำอะไรต่อเลย เพราะขนาดทำงานประจำคุณยังรู้สึกเบื่อ แล้วจะแน่ใจได้ว่าถ้าเกษียณจากงานประจำไปทำอาชีพอิสระหรืออยู่บ้านเฉยๆคุณจะไม่เบื่ออีก ใครก็ตามที่เกิดความรู้สึกเบื่อบ่อยๆ รับรองได้ว่าไม่ว่าคุณจะไปอยู่ที่ไหน ทำอะไร ความเบื่อก็จะมาเยือนคุณอย่างสม่ำเสมอ
ถ้าอยากจะเกษียณออกจากงานประจำ อยากจะเริ่มเมื่ออายุเท่าไหร ?
ใครตอบคำถามข้อแรกได้ว่า “ อยาก ” และอยากเกษียณเพราะรู้สึกว่าอยากจะออกไปทำในสิ่งที่ตัวเองรักตัวเองชอบหรืออยากจะออกไปทำประโยชน์ให้สังคมที่กว้างกว่านี้ ก็ต้องถามตัวเองต่อว่า แล้วคิดว่าอยากจะเกษียณอายุจากงานประจำตอนอายุประมาณเท่าไหร่ เมื่อบวกลบกับอายุปัจจุบันแล้ว เหลือเวลาวางแผนเพื่อเตรียมตัวเกษียณตัวเองจากการเป็นลูกจ้างอีกกี่ปี
สิ่งที่อยากจะทำหลังจากออกจากงานประจำคืออะไร ?
เมื่อรู้แล้วว่าตัวเองอยากจะเกษียณจากการทำงานประจำอายุเท่าไหร่ ต้องถามต่อว่าแล้วชีวิตหลังเกษียณจากงานประจำ คุณอยากจะทำอะไร เพราะคงไม่มีใครอยากจะนั่งกินนอนกิน(แถมมีคนป้อนให้กินอีกต่างหาก...อัมพฤต อัมพาต)อยู่บ้านเฉยๆ คุณอยากจะทำสิ่งที่ตัวเองชอบเพื่อตัวเอง หรือคุณอยากจะทำสิ่งที่ตัวเองเพื่อคนอื่น(สังคม) หรือจะแบ่งสัดส่วนหรือช่วงเวลาของชีวิตเพื่อทำสิ่งต่างๆอย่างไร เช่น ช่วงแรกทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เมื่อประสบความสำเร็จแล้วจะขยายผลไปสู่การช่วยเหลือคนอื่นในสังคม
หาประสบการณ์โดยผ่านการพูดคุยกับ “ อดีตมนุษย์เงินเดือน ” ไว้บ้าง ?
เมื่อตัดสินใจอย่างแน่นอนแล้วว่าจะเกษียณอายุจากงานประจำเมื่อไหร่ ในระหว่างที่ยังทำงานประจำอยู่ควรลดเวลาคุยกับคนทำงานประจำให้น้อยลง และควรหาโอกาสและแบ่งเวลาไปคุยกับคนที่เกษียณอายุจากงานประจำไปแล้วให้มากขึ้น เพราะเท่ากับเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตคนอื่นแบบเรียนลัด ถึงแม้ชีวิตเรากับเขาจะแตกต่างกัน แต่ผมเชื่อว่าแนวคิดและหลักใหญ่ๆในการดำเนินชีวิตหลังเกษียณน่าจะใกล้เคียงกันหรือพอนำมาประยุกต์ใช้กันได้บ้าง
งานอิสระคือบันไดคั่นระหว่างงานประจำกับคนเกษียณอายุจากการทำงาน
คนรุ่นใหม่หลายคนกำหนดบันไดให้ชีวิตหลังวัยเรียนอยู่ 3 ขั้นคือ บันไดขั้นแรกคือการทำงานประจำเพื่อสะสมทรัพย์และประสบการณ์รวมถึงเป็นช่วงเวลาในการค้นหาตัวเอง บันไดขั้นที่สองมักจะเป็นการออกจากงานประจำไปทำอาชีพอิสระเพราะยังมีไฟอยู่และอยากจะทำในสิ่งที่อยากทำแต่ไม่ค่อยได้มีโอกาสทำตอนที่ทำงานประจำ และบันไดขั้นสุดท้ายคือการเกษียณอายุจริงๆเป็นช่วงที่มีทรัพย์มากพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ไปตลอดชีวิตและไม่คิดจะหาทรัพย์อะไรเพิ่มเติมแล้ว คิดอยากจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้ เป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการลงทุนในชีวิตที่ผ่านมา
ต้องวางแผนชีวิตว่าถ้าเราเกษียณเร็ว แล้วเวลาที่เหลือในชีวิตเราจะไปทำอะไร ?
คนรุ่นเก่าที่เกษียณอายุเมื่ออายุห้าสิบหกสิบคงไม่ต้องคิดวางแผนชีวิตอะไรให้มากมายเพราะชีวิตช่วงที่เหลือมักจะน้อยกว่าชีวิตช่วงที่ผ่านมา แต่...พอมาถึงคนรุ่นใหม่ที่มักจะวางแผนเกษียณด้วยวัยที่ยังไม่มากนัก จะต้องวางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณให้ดี เพราะช่วงชีวิตหลังเกษียณอาจจะยาวกว่าช่วงชีวิตที่ผ่านมา พูดง่ายๆว่าคนรุ่นใหม่ต้องใช้เวลาหลังเกษียณนานกว่าคนรุ่นเก่า จึงต้องวางแผนให้ดี
ฝึกซ้อมการใช้ชีวิตหลังเกษียณไว้บ้าง
ก่อนที่จะเกษียณตัวเองออกจากการทำงานประจำ ควรจะซ้อมเกษียณไว้บ้าง เช่น ลาพักร้อนเพื่ออยู่บ้านและลองคิดว่าถ้าวันนี้เราเกษียณจากงานประจำแล้ว เราจะอยู่ได้หรือไม่ เพราะเพื่อนๆวัยเดียวกันยังทำงานอยู่ เราจะทำอะไร โดยใช้ช่วงเวลาสั้นๆเพียงไม่กี่วันลองสมมติตัวเองว่าเป็นเวลาแห่งการเกษียณจากการเป็นลูกจ้าง เพื่อทดสอบว่าสภาพจิตใจของเราพร้อมแล้วหรือยัง ถือเป็นการชิมลางของชีวิตหลังการเป็นลูกจ้าง ถ้าชิมแล้วยังรู้สึกไม่ชอบ ก็ยังพอที่จะเปลี่ยนใจเปลี่ยนแผนได้ แต่ถ้าชอบอาจจะต้องลองชิมบ่อยๆ เพื่อให้มั่นใจว่าชอบจริงๆ ไม่ใช่แค่อยาก
สรุป คนรุ่นใหม่ต้องเปลี่ยนทัศนคติในการมองคำว่า “ เกษียณ ” ในเชิงลบมาเป็น “ โอกาส ” และต้องตั้งเป้าหมายว่าตัวเองควรจะเกษียณออกจากงานประจำเมื่อไหร่ เพื่อจะได้มีเวลาใช้ชีวิตหลังเกษียณไปทำสิ่งที่ตัวเองรักตัวเองชอบ และจะได้มีโอกาสสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและโลกนี้ได้มากขึ้น มากกว่าการมีสังกัดและทำงานที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถในขอบเขตที่จำกัด ผมเชื่อว่าถ้าคนรุ่นใหม่อยากจะเกษียณอายุตัวเองจากงานประจำเร็วขึ้น น่าจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย นายจ้างก็จะได้คนทำงานที่มีไฟ ถึงแม้เขาจะอยู่กับองค์กรไม่นาน แต่ก็น่าจะสามารถสร้างผลงานให้กับองค์กรได้มากขึ้น เพราะการที่คนรุ่นใหม่จะเก็บเงินได้มากเพียงพอต่อการเกษียณตัวเองจากการเป็นลูกจ้างมีทางเดียวคือต้องประสบความสำเร็จในอาชีพลูกจ้างให้เร็วขึ้น ซึ่งก็หมายถึงประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับ สำหรับคนทำงานเองก็จะได้ใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่าสมราคาของการเกิดมาเป็นคนได้มากยิ่งขึ้น และสุดท้ายสังคมหรือโลกของเราก็จะมีผลงานแห่งชีวิตของคนเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลจำเพาะ
วันที่เขียน 22 ตุลาคม 2548
สถานที่เขียน ริมสระว่ายน้ำของโรงแรมอินทรา (ประตูน้ำ) เวลาประมาณ 07.00 น.ระหว่างรอบรรยายหลักสุตร “ บันไดสู่อาชีพอิสระ”
มูลเหตุจูงใจ ได้มีโอกาสสนทนากับนักท่องเที่ยวชาวนิวซีแลนด์ที่เกษียณอายุ(อายุประมาณ 56 ปี) และมาเที่ยวพักผ่อนที่เมืองไทย