พี่แอ๊ะ พี่ป๋อง
ผมกลัวพวกมันทำไม่เป็น เพราะเริ่มมีเค้าแล้วว่า
1.ปลอมชื่อชาวบ้าน เพื่อรับเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 5,000 บาท(รัฐบาลบอกบ้านต้องจมน้ำอย่างน้อย 7 วัน)
2.บ้านเสียหายทั้งหลังให้ 30,000 บาทโดยมหาดไทย ตามด้วย พม. อีก 30,000 บาท
เสียหายไม่ทั้งหลัง มหาดไทยให้ 20,000 บาท ตามด้วย พม. อีก 20,000 บาท
3.คนตายให้ศพละ 100,000 บาท วันนี้ตายแล้ว 100 ราย
4.ถุงยังชีพยังถูกอมโดย สมาชิกองค์การส่วนท้องถิ่น อมกันไปบ้างแล้ว
5.งบจังหวัด ขณะนี้ให้ 250 ล้านบาท/จังหวัด จากเดิม 50 ล้านบาท
6.งบซ่อมถนน คมนาคมขอเบื้องต้น 5,000 ล้านบาท ยังไม่รวมงบซ่อมแซมอื่นๆ
ทำจริงไม่กลัว กลัวอม
เพิ่มเติมเมื่อเวลา 18.25 น...ครับเหลือบสูบน้ำท่วม ปปท.ส่งชุดสอบงบช่วย ‘มาร์ค’สั่งเช็กยอดตายข่าวหน้า 130 ตุลาคม 2553 - 00:00
"มาร์ค" วิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากเวียดนามห่วงสถานการณ์น้ำท่วม ติงตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่ตรงกัน สั่งทุกกระทรวงปรับลดงบประมาณเพื่อนำมาช่วยฟื้นฟู ชงเข้า ครม.เศรษฐกิจ 1 พ.ย. คชอ.ประเดิมมอบเงินช่วยเหลือแก่ญาติผู้เสียชีวิต จ.ลพบุรี 15 ราย ขณะที่ ป.ป.ท.ส่งชุดปฏิบัติการพิเศษตรวจสอบการจ่ายงบ ผงะ! งบภัยพิบัติปี 52 ถึงมือ ปชช.ไม่ถึง 10% พบทุจริตเพียบ ลั่นต้องทำตามระเบียบ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านฯ แนะจ่ายผ่านอำเภอ หากให้ท้องถิ่นเสร็จหัวคะแนน ส่วนยอดผู้เสียชีวิตพุ่งถึง 94 ราย
เมื่อวันศุกร์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศเวียดนาม เปิดเผยว่า อาเซียนแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งในหลายประเทศก็เกิดเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน ดังนั้นขอให้คนไทยสบายใจได้ว่า มิตรประเทศให้ความห่วงใยและไม่ทอดทิ้ง สำหรับแนวทางช่วยเหลือฟื้นฟูนั้นได้แบ่งเป็นรายภาค ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าไม่มีแนวคิดที่จะกู้เงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟู
"และได้สั่งการให้ทุกกระทรวงไปพิจารณาปรับลดงบประมาณ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการช่วยเหลือฟื้นฟูแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับงบกลางมากจนเกินไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ในวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายนนี้"
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า ในส่วนของพื้นที่ภาคกลางขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดแล้ว ขณะที่ในบางพื้นที่ซึ่งน้ำท่วมขังต้องเร่งให้ความช่วยเหลือต่อไป สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น มั่นใจได้ว่าระดับน้ำจะไม่เกินปริมาณที่เตรียมการรองรับไว้ ส่วนภาคใต้และภาคตะวันออกต้องติดตามเฝ้าระวังต่อไป
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) เป็นประธานปล่อยขบวนคาราวานขนส่งสิ่งของสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัยให้แก่ประชาชนใน 11 จังหวัด
ทั้งนี้ นายสาทิตย์กล่าวว่า ในที่ประชุม คชอ.จะมีการหารือกันหลายเรื่อง ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจในวันจันทร์ที่ 1 พ.ย.นี้ และจะรายงานต่อที่ประชุม ครม.วันอังคารต่อไป เมื่อ ครม.เศรษฐกิจผ่านมาตรการในวันจันทร์ที่ 1 พ.ย. ก็ตั้งใจว่าจะจ่ายเงิน 5 พันให้ทันในสัปดาห์หน้าไม่เกินวันศุกร์ ดังนั้นตัวเลขในการประเมินความเสียหายก็คงจะมีความสำคัญมาก อย่างไรก็ตาม ยืนยันวันนี้งบประมาณต่างๆ มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือ กลไกต่างๆ จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากที่สุด
ส่วนการดูแลงบที่อาจจะรั่วไหล นายสาทิตย์กล่าวว่า ในแต่ละเงินงบประมาณที่จ่ายลงไปจะมีระบบไปกำกับดูแล เช่น เงินกองทุนบริจาคเราจะใช้เว็บไซต์ ทั้งไทยพลัส พีเอ็ม และสำนักนายกฯ แจ้งให้ทราบ ทั้งตัวเลขเงินเข้าออก ส่วนตัวเลขที่เกี่ยวกับเงินงบประมาณด้านอื่น เช่น 5 พัน จะใช้หลักฐานสำเนาทะเบียนบ้าน ตรงนี้จะควบคุมได้ง่าย หากเป็นบ้านเช่าจะมีทะเบียนที่ชัดเจน ส่วนงบที่อนุมัติให้ซื้อของไปนั้น รายละเอียดจะมีการอนุมัติไปสองส่วนที่สำคัญ คือ กรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) 70 ล้าน กับ 238 ล้านตอนหลัง และทุกรายการจะมีกรมบัญชีกลางและสำนักงบกำกับดูแล ขณะเดียวกันในที่ประชุม คชอ.จะมีภาคประชาสังคมที่มากำกับอยู่ด้วย
ต่อมานายสาทิตย์ พร้อมด้วยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้อำนวยการศูนย์ ศชอ.และคณะ เดินทางไปยัง ต.ท่าแค อ.เมืองฯ และ ต.พุคา อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เพื่อมอบเงินช่วยเหลือให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการประสบอุทกภัย จำนวน 14 ราย และ ต.พุคา อ.บ้านหมี่ จำนวน 1 ราย รายละ 5 หมื่นบาท รวมทั้งหมด 15 ราย
'มาร์ค' ติงยอดคนตายไม่ตรงกัน เมื่อเวลา 19.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม มายังตึกสันติไมตรี ที่ตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย เพื่อสอบถามถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมและสถานการณ์น้ำท่วม
โดยนายสาทิตย์รายงานว่า แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลที่ไหลผ่าน จ.อุบลฯ คาดว่าภายใน 4-5 วันนี้จะไหลมาถึง จ.สุรินทร์ และจะถึงอุบลฯ ในวันที่ 2 พ.ย. ขณะที่นายอภิรักษ์รายงานว่า กทม.เข้าสู่ภาวะปกติ แต่ต้องระวังน้ำทะเลหนุนในวันที่ 1 พ.ย.นี้
นายอภิสิทธิ์ยังขอให้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมขังใน จ.พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี นนทบุรี ปทุมธานี ว่าระดับน้ำสูงมากเพียงใด นายสาทิตย์ระบุว่า ขณะนี้กำลังแย่ จังหวัดที่มีน้ำท่วมขังเกิน 15 วัน ซึ่งเป็นจังหวัดที่น้ำท่วมสูงคือ พระนครศรีอยุธยาและนนทบุรี จำเป็นต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะวันที่ 8 พ.ย.น้ำอาจจะหนุนสูง อย่างไรก็ตามทาง คชอ.ได้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ ที่ประกอบด้วย 3 เหล่าทัพ และเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนโดยเร่งด่วน
สำหรับการช่วยเหลือนั้น นายสาทิตย์ระบุว่า สำหรับงบกลางในการจัดซื้ออุปกรณ์จำเป็นให้ผู้ประสบอุทกภัย ในส่วนของเงินบริจาค 70 ล้านบาท ทางรัฐบาลได้ดำเนินการจัดเตรียมสุขาลอยน้ำ โดยปล่อยเป็นคาราวาน ส่วนงบประมาณอีก 238 ล้านบาท และเพิ่ม 106 ล้านบาท ให้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งสิ่งที่ประชาชนร้องขอมากที่สุดยังเป็นสุขา ก็พยายามจัดให้อย่างเพียงพอ นายอภิรักษ์กล่าวเสริมว่า ขณะนี้มีองค์กรภาคเอกชนให้ความร่วมมือให้ความช่วยเหลือด้วย
ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมชลประทาน ต่างรายงานความคืบหน้าการทำงานให้ทราบด้วยเช่นกัน โดย นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ขณะนี้ได้จัดทำแผนในการฟื้นฟูเฝ้าระวังโรคติดต่อ เช่น ไข้เลือดออก ฉี่หนู รวมทั้งเรื่องของอนามัยและสิ่งแวดล้อม
นายอภิสิทธิ์ยังท้วงติงในเรื่องตัวเลขผู้เสียชีวิต ที่แต่ละหน่วยงานข้อมูลไม่เหมือนกัน นายสาทิตย์ได้หันไปถามปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 85 ราย ซึ่งนายกฯ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ช่วยติดตามสถานการณ์ให้ดี เพราะขณะนี้สถานการณ์ยังไม่นิ่ง อยากให้ติดตามใกล้ชิดอย่าเพิ่งวางใจ มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจสำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยขณะที่นายอำพล วงศ์ศิริ รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ (ศปพ.) ตามคำสั่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ให้จัดชุดปฏิบัติการพิเศษ 5 ชุด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการใช้งบภัยพิบัติ เปิดเผยว่า ได้รับมอบนโยบายจาก รมว.ยุติธรรม ให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและติดตามผลการใช้งบประมาณของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติจากเหตุน้ำท่วม โดยเฉพาะในจังหวัดที่ใช้งบแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำนวน 50-100 ล้านบาท ว่าได้ใช้จ่ายถูกต้องตามระเบียบหรือไม่
ป.ป.ท.ลุยสอบงบรั่วไหล นายอำพลกล่าวว่า ป.ป.ท.จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมตรวจสอบในลักษณะคู่ขนานไปด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ เนื่องจากที่ผ่านมาเม็ดเงินงบประมาณถึงมือประชาชนไม่ถึงร้อยละ 10 โดยแนวทางการตรวจสอบจะใช้ฐานข้อมูลเดิม ซึ่ง ป.ป.ท.พบว่าบางจังหวัดมีการทุจริตงบประมาณเกินความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง โดยในวันที่ 1 พ.ย. จะเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษเพื่อทำความเข้าใจกันก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติการในพื้นที่จริงด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงบประมาณที่รัฐบาลเตรียมเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เพื่ออนุมัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่มีวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ขณะที่การตรวจสอบทุจริตงบภัยพิบัติของ ป.ป.ท.ก่อนหน้านี้มีสรุปผลสอบการใช้งบภัยพิบัติประจำปีงบประมาณ 2552 พบว่าในการสุ่มตรวจสอบโครงการทั้งสิ้น 373 โครงการ มีโครงการที่ส่อใช้งบทุจริตมากถึง 274 โครงการ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากการสุ่มตรวจสอบ 163 โครงการใน 6 จังหวัด พบว่าทุจริตโครงการมีการใช้งบที่ผิดปกติ
ขณะที่นายพีระ ตั้งชูทวีทรัพย์ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านภาคกลาง กล่าวว่า ในการจ่ายเงินให้กับประชาชนในท้องถิ่นควรจ่ายผ่านอำเภอซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของรัฐ มากกว่าจ่ายผ่านท้องถิ่นหรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เนื่องจากที่ผ่านมาพบปัญหาว่านักการเมือง อบต., อบจ.บางกลุ่มมีการเล่นพรรคเล่นพวก เช่น กั๊กเงินบริจาคหรือสิ่งของเพื่อไปแจกจ่ายให้กับฐานเสียงของตัวเอง
"การจ่ายเงินผ่านอำเภอมีความเป็นกลางและโปร่งใสมากกว่า เช่นเดียวกับที่รัฐบาลเคยแจกเช็คช่วยชาติ 2 พันบาท ก็ผ่านอำเภอโดยให้ปลัดอำเภอไปประสานงานกับท้องถิ่นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อบจ.และ อบต.ไปดำเนินการสำรวจ และจัดทำบัญชีประชาชนที่เดือดร้อนว่ามียอดเท่าไรแล้วให้ประชาชนมารับที่อำเภอ เป็นต้น" นายพีระกล่าว
ทางด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยระหว่างวันที่ 10-29 ตุลาคม 2553 มีพื้นที่ประสบภัย 38 จังหวัด 297 อำเภอ 2,180 ตำบล 17,711 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,355,500 ครัวเรือน 4,161,363 คน ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 11 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 27 จังหวัด ทั้งนี้ พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย 4,001,701 ไร่ ผู้เสียชีวิต 75 ราย น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี และพื้นที่ อ.ทับปุด อ.ตะกั่วทุ่ง อ.ท้ายเมือง จ.พังงา ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ตายพุ่ง 94 ราย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า เฉพาะในวันที่ 28 ต.ค. มีผู้ป่วยมารับบริการ 49,195 ราย ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 20-28 ต.ค. รวม 9 วัน พบผู้เจ็บป่วย 229,398 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 คือ น้ำกัดเท้า 110,111 ราย ที่เหลือเป็นไข้หวัดปวดเมื่อยร่างกาย และพบผู้ที่มีอาการเครียดนอนไม่หลับ ใจสั่น วิตกกังวล ร้อยละ 12 หรือประมาณ 25,233 คน
สำหรับผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 20-28 ต.ค. มีผู้เสียชีวิตรวม 94 ราย 20 จังหวัด มากที่สุดที่จังหวัดนครราชสีมา 18 ราย รองลงมาคือนครสวรรค์ 12 ราย, ลพบุรี 11 ราย, พระนครศรีอยุธยา 7 ราย, บุรีรัมย์ 6 ราย เมื่อวานนี้เสียชีวิตเพิ่ม 26 ราย คือที่นครราชสีมา 9 ราย, นครสวรรค์ 1 ราย, พระนครศรีอยุธยา 6 ราย, นนทบุรี 2 ราย, สุพรรณบุรี 4 ราย,
กำแพงเพชร 1 ราย และปทุมธานี 3 ราย ส่วนใหญ่จมน้ำเพราะลื่นพลัดตกน้ำ ส่วนโรคระบาดหลังน้ำท่วมยังไม่มีการระบาดเกิดขึ้น
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถาณการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาของวันที่ 29 พ.ย.ว่า ปริมาณน้ำจากนครสวรรค์ได้เลยจุดสูงสุดและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำที่วัดได้วันนี้คือ 2,675 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวานที่วัดได้ 2,788 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งหากไม่มีฝนตกในช่วงนี้ ประกอบกับได้ผ่านพ้นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงสุดไปแล้ว การระบายน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงระบายออกได้ดี โอกาสที่น้ำจะกลับมามีปริมาณสูงอีกจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น
สำหรับสถานการณ์ของลุ่มน้ำมูล คาดว่าปริมาณน้ำรอบแรกจะไหลเข้า อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ประมาณเย็นวันนี้หรือตอนเช้าของพรุ่งนี้ ส่วนน้ำชี ปริมาณน้ำรอบแรกยังอยู่ที่ อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด โดยจะไหลเข้า อ.วารินชำราบ ในวันที่ 7 พ.ย. แต่คงจะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากระหว่างนั้นกรมชลประทานสามารถระบายน้ำออกได้พอสมควร จึงคาดว่าปริมาณน้ำน่าจะสูงขึ้นประมาณ 80 เซนติเมตร-1.20 เมตร ซึ่งจะไม่สูงไปกว่าปีที่ผ่านมา
นายต่อศักดิ์ วานิชขจร รองอธิบดี รักษาการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ช่วงระหว่างวันนี้จนถึงวันที่ 1 พ.ย. ต้องจับตาหย่อมความกดอากาศต่ำปลายแหลมญวนในอ่าวไทย มีโอกาสทวีกำลังแรงกลายเป็นพายุดีเปรสชัน พัดเข้าสู่ตอนกลางของภาคใต้ และทำให้ฝนตกหนักในภาคใต้ฝั่งตะวันออก และนับจากวันนี้จนถึงวันที่ 3 พ.ย. ภาคใต้หลายจังหวัดอาจมีฝนตกหนักเกิน 100 มิลลิเมตร ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงนราธิวาส จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน โคลนถล่ม และน้ำล้นตลิ่งเหมือนภาคกลางในเขต จ.นราศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนทะเลอาจมีคลื่นสูงถึง 4 เมตร.
http://www.thaipost.net/node/29392