บทความแสดงความเห็นเรื่อง "หายนะบ้านเมืองไทย - จะเยียวยากันอย่างไร" สิ่งที่เราคงต้องใส่ใจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้หาเช้ากินค่ำ ที่ ร้านค้า แผงลอยพร้อมสินค้า ถูกเผาจนหมดเนื้อหมดตัวอภิปรายนอกสภา หายนะบ้านเมืองไทย - จะเยียวยากันอย่างไร (พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล) หายนะของบ้านเมืองวันนี้ไม่ใช่ฝันร้าย แต่มันเป็นความจริงที่ต้องเผชิญ
ในด้านชีวิตและร่างกาย รวมตัวเลขจากรายงานที่เป็นทางการ เฉพาะจากเหตุร้ายในเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคมเพียงถึงวันนี้ มีรายงานว่าตายร่วม 80 คน และบาดเจ็บอีกประมาณ 1,300 ถึง 1,400 คนเข้าไปแล้ว ยังไม่นับอีกไม่รู้กี่ศพที่อาจจะพบในกองซากตึกจำนวนมากที่ถูกเผา และไม่รู้ว่าคนเจ็บจำนวนมากมายเหล่านี้จะต้องพิการอเนจอนาถไปชั่วชีวิตอีกจำนวนเท่าไร
ในด้านทรัพย์สินและเศรษฐกิจ มีสถานประกอบธุรกิจใหญ่ของบ้านเมืองถูกเผาทำลายจนราพณาสูรอีกหลายสิบแห่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งเศรษฐกิจของชาติที่ติดระดับสำคัญในภูมิภาค ทั้งศูนย์การค้า ศูนย์การเงิน ศูนย์นันทนาการ ศูนย์พยาบาล โรงแรมชั้นนำ สถานที่ราชการ และอาคารผู้ประกอบการใหญ่น้อยทั้งหลายรวมแล้วนับพันนับหมื่นราย
ความเสียหายตัวทรัพย์สินที่เป็นอาคาร สิ่งก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์เชื่อว่า มีมูลค่ากว่าหนึ่งแสนล้านบาท ความเสียหายที่เป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีชั้นสูงและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆรวมทั้งตัวสินค้าและบริการ น่าจะมีมูลค่าเกินกว่าหนึ่งแสนล้านบาทเช่นกัน ส่วนค่ากำจัดซากอาคาร บำบัดมลพิษ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงเรียกคืนสภาพพื้นที่เดิม ค่าเสียหายจากการขาดรายได้ในช่วงเวลาวิกฤตที่ผ่านมาและต่อเนื่องไปข้างหน้าจนกว่าจะคืนสู่สภาพปกติในอีกหลายปีข้างหน้า เชื่อว่าเป็นความเสียหายอีกหลายแสนล้านบาท
รวมทั้งสิ้นอาจเท่ากับครึ่งหนึ่งของรายจ่ายงบประมาณประจำปีของประเทศชาติ ส่งผลถึงอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่จะต้องถดถอยจากเป้าหมายเดิมทั้งในปีนี้และกระทบต่อเนื่องในปีต่อๆไป
ปัญหาสำคัญที่จะต้องประสบคือความเสียหายทั้งสิ้นไม่ว่าต่อชีวิตก็ดี ต่อทรัพย์สินก็ดี ต่อการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจก็ดี ล้วนเป็นวินาศภัยที่เกิดจากการจลาจลและก่อการร้าย ซึ่งโดยปกติจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย นอกจากจะมีข้อตกลงคุ้มภัยครอบคลุมต่างหาก โดยต้องเพิ่มเบี้ยประกันสูงมากจนอาจจะไม่มีใครยอมเสียเบี้ยประกันเพิ่มเพื่อรับความคุ้มครอง
มีผู้คาดหวังว่า ความเสียหายครั้งนี้อาจได้ชดเชยเป็นเงินตราเข้าประเทศจากบริษัทประกันช่วงที่อยู่ต่างประเทศ แต่หากวินาศภัยจากการจลาจลครั้งนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ความเสียหายจะกระทบเนื้อๆต่อฐานะทางการเงินในประเทศโดยไม่ได้รับการเยียวยาจากเม็ดเงินต่างประเทศ
ที่ดินแปลงสำคัญที่สุดที่ได้รับความเสียหายครั้งนี้เป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ให้เอกชนทำสัญญาเช่าในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วทรัพย์สินที่เป็นอาคารสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินฯ เมื่ออาคารสิ่งปลูกสร้างและส่วนควบทั้งหมดถูกเผาทำลายไปหมดเช่นนี้ พันธะที่ผูกพันอยู่จะทำอย่างไร
หายนะครั้งนี้แตกต่างและร้ายแรงกว่าเหตุการณ์วันมหาวิปโยคเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ร้ายแรงกว่าเหตุการณ์ไม่สงบเมื่อ 16 ตุลาคม 2519 และร้ายแรงกว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2535
ร้ายแรงกว่าในจำนวนผู้บาดเจ็บพิการและล้มตาย ร้ายแรงกว่าในมูลค่าความเสียหายทางทรัพย์สินและเศรษฐกิจของประเทศชาติ
แตกต่างด้วยเหตุการณ์ที่ผ่านมาทุกครั้งเกิดจากการชุมนุมของมวลชนผู้สุจริต แต่หายนะครั้งนี้เกิดจากการก่อวินาศกรรมของผู้ก่อการร้ายที่อ้างมวลชน
วันนี้สังคมกำลังแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางในเรื่องการเยียวยา ทั้งต่อผู้บาดเจ็บล้มตาย และต่อผู้ประกอบการที่กำลังจะหายนะ
ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้บาดเจ็บล้มตาย แน่นอนที่สุดที่จะต้องมีทั้งประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เคราะห์ร้าย และมีทั้งผู้ก่อการร้ายที่ร่วมก่อจลาจลร้ายแรงในครั้งนี้รวมอยู่ด้วย แต่ถึงจะเป็นใครก็ตาม การเข้าไปเป็น"ไทยมุง" อยู่ในเขตประกาศห้ามย่อมเป็นการผิดกฎหมายอยู่แล้ว นอกจากผู้มีนิวาสถานอยู่ในที่นั้นหรือมีเหตุผลที่รับฟังได้ การนำเงินของรัฐไปช่วยเหลือเยียวยาเป็นการทั่วไปจะนำมาซึ่งข้อตำหนิต่อรัฐบาล ปัญหาที่จะต้อง "แยกปลาออกจากน้ำ" หรือ "แยกน้ำดีออกจากปลาเน่า" จะเป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาลต่อไป
ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการที่เคราะห์ร้าย ความเสียหายครั้งนี้มหาศาลและกระจายไปกว้างขวางมากเหลือเกิน
สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งอาจต้องเสียหายเป็นพันล้านหมื่นล้านคงเกินกำลังที่จะช่วยเหลือในลักษณะ"เยียวยา"ฟื้นอาการให้เห็นผล แต่สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วไป มีบางคนทุ่มเทสมบัติทั้งชีวิตไปลงทุนเปิดร้านทำแผงค้าขายเลี้ยงครอบครัวอยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือตึกแถวร้านค้าทั่วไปในย่านที่เกิดเหตุ บัดนี้ทรัพย์สินที่มีทั้งหมดกลายเป็นเถ้าถ่านและตัวเลขหนี้สินติดตัวไปอย่างอนาถา สมควรต้องรีบเร่งหาทุกช่องทางเยียวยาช่วยเหลือให้ได้ผลอย่างจริงจังในฐานะที่เป็นรัฐบาลของประชาชน
มีผู้กล่าวถึงการช่วยเหลือด้วยมาตรการทางภาษี คงต้องคำนึงถึงว่า ความเสียหายที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องประสบคือสูญเสียทรัพย์สินและสถานที่ประกอบการจนทำธุรกิจต่อไปไม่ได้ จึงไม่มีภาระภาษีใหม่ที่จะต้องเสียอีกแล้ว ความช่วยเหลือที่อาจจะทำได้ทางหนึ่งคือการยกเลิกภาษีเก่าที่ค้างจ่ายทั้งหมดในลักษณะเช่นเดียวกับการนิรโทษกรรมทางภาษี ซึ่งอยู่ในวิสัยที่อาจกระทำได้โดยทางนโยบาย
การเปิดเผยว่ากระทรงการคลังจะตั้งกองทุนจำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ หากคำนึงถึงภาวะผู้ประสบความเดือดร้อนโดยรวมจำนวนมหาศาลขณะนี้ จำนวนเงินเท่านี้น้อยนิดเกินไปจนอาจเยียวยาไม่ได้ผล สมควรที่จะพิจารณาเพิ่มเติมมากกว่านี้อีกหลายเท่าตัว
อีกประการหนึ่ง เงินจากกองทุนเป็นเงินที่ผู้รับความช่วยเหลือต้องใช้คืน จึงจำเป็นต้องพิจารณาช่วยเหลือในลักษณะ"เงินสงเคราะห์" เพื่อการเยียวยาทันทีทันใดอีกจำนวน ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีการทางงบประมาณ หรือใช้เงินกู้ในโครงการ"ไทยเข้มแข็ง"ซึ่งขณะนี้ยังเบิกจ่ายไปได้เพียงน้อยนิด เชื่อว่า หากนำเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือเยียวยาให้ถูกเป้าหมายและโปร่งใส น่าจะมีส่วนช่วยเหลือให้ไทยเข้มแข็งขึ้นได้จริงๆ
นอกจากผู้ประกอบการจำนวนมากที่ต้องได้รับความช่วยเหลือโดยรีบด่วนแล้ว ส่วนที่ลืมไม่ได้เป็นอันขาดคือประชาชน"มนุษย์เงินเดือน" ผู้ต้องได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมกันแล้วน่าจะมีจำนวนหลายหมื่นคน เป็นหลายหมื่นคนในเมืองหลวงที่รัฐบาลจะต้องรีบเร่งช่วยเหลือเยียวยาเป็นอันดับแรก
ปัญหาทั้งสิ้นกำลังท้าทายการตัดสินใจและปฏิบัติการของรัฐบาล หากช้าไปความเดือดร้อนเสียหายจะกลายเป็นกระแสถาโถมมากล่าวหาซ้ำเติมรัฐบาล
หากถึงเมื่อนั้น รัฐบาลจะตกอยู่ในสภาพสาหัสจนเกินเยียวยา !!!
วันที่ 22/5/2010
http://www.naewna.com/news.asp?ID=212097