22 พฤศจิกายน 2567, 18:14:50
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน [สมาชิกเก่าลืมรหัส โทร 081-7611760]
A A A A  ระเบียบปฎิบัติ
   
Languages    
  หน้า: [1]   ลงล่าง
ผู้เขียน หัวข้อ: วัดพระบาทน้ำพุให้ผู้ติดเชื้อได้มีความสุขจากการได้บวชเป็นพระที่แรกในไทย  (อ่าน 4075 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Samrotri2517
Cmadong Member
Hero Cmadong Member
****


จะเป็นด้านที่1และ2ของ3เหลี่ยมฯ เพื่อให้เกิดด้านที่3
ออฟไลน์ ออฟไลน์

รุ่น: รหัสเข้า 17 รุ่น 57
คณะ: แพทยศาสตร์ จุฬาฯรุ่น 30
กระทู้: 1,915

« เมื่อ: 08 สิงหาคม 2553, 18:31:25 »


ขอขอบคุณเวบไทยรัฐวันเสาร์ 7 สิงหาคม 2553 ที่เอื้อเฟื้อข่าว
http://www.thairath.co.th/today/view/101638



18 ปีเต็มที่วัดพระบาทนำ้พุดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์
จากผู้ป่วยรายแรก จวบจนวันนี้มีผู้ป่วยฯรวมกันทั้งสิ้นกว่า 500 ชีวิต


ถ้านับแบบเหมารวม ทั้งผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต คนปัญญาอ่อน หูหนวก ตาบอด เด็กติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย สุนัข วัว ควายที่ถูกไถ่ชีวิตมาจากโรงฆ่าสัตว์ รวมประชากรทั้งคนและสัตว์ที่หนีร้อนไปขอพึ่งเย็นอาศัยใบบุญเจ้าอาวาส
"พระอุดมประชาทร" (หลวงพ่ออลงกต) รวมแล้วเวลานี้มีไม่ต่ำกว่า 2,500 ชีวิต

ถึงแม้ผู้ป่วยเอดส์ยุคนี้ไม่ตายง่าย ตายเร็ว หรือตายบ่อยเหมือนใบไม้ร่วงดังเช่นผู้ป่วยเอดส์ยุคเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เพราะผู้ป่วยฯสมัยนี้กิน ยาต้านไวรัสเอดส์ จึงช่วยยืดอายุให้ยืนยาว

แต่ยาต้านไวรัส ใช่ว่าจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาว หรือโอกาสในท่ามกลางวิกฤติสำหรับผู้เป็นเอดส์ทุกคนเสมอไปไม่ เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้
ในข้อดีมักมีข้อเสีย และในข้อเสียก็มักจะมีดีอยู่บ้าง เป็นเช่นนี้แล

ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยเอดส์บางรายที่กินยาต้านไวรัส แม้จะมีชีวิตอยู่ได้นานวันขึ้น แต่ก็ต้องอยู่อย่าง ทนทุกข์ทรมานจากโรคแทรกซ้อน
บางโรค หรือ ตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า จะตายก็ตายไม่ลง จะอยู่ก็อยู่อย่างทุกข์ระทมนั่นเอง

หรือในกรณีที่เด็กนักเรียนสายอาชีวะส่วนหนึ่ง มักมีเพศสัมพันธ์กันโดยไม่ป้องกันจนติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อกินยาต้านไวรัสเข้าไป ในช่วงแรกๆมักทำให้ผิวพรรณดูดี มีน้ำมีนวลขึ้นมาผิดหูผิดตา เรียกว่าดูแทบไม่ออกว่าเป็นผู้ติดเชื้อฯ

แต่แทนที่ตัวเองป่วย จะระมัดระวังตัวเอง กลับไปมีเพศสัมพันธ์แบบสำส่อน แพร่เชื้อให้ผู้อื่นในวงกว้าง กรณีนี้จึงนับเป็นอีกปัญหาที่แอบแฝง และตามมาจากการใช้ยาต้านฯ

ที่สำคัญกว่านั้น เวลานี้ทั้งรัฐบาล ระบบสังคมสงเคราะห์ ระบบประกันสุขภาพ การแพทย์และสาธารณสุขในบ้านเรา ยังไม่มีแผนเตรียมพร้อมรองรับปัญหาที่จะตามมาจากการใช้ยาต้านฯ ทำให้ทุกวันนี้สังคมเอดส์เมืองไทย ตก อยู่ในสภาพปล่อยเลยตามเลย



เฉลิมพล พลมุข ผู้จัดการมูลนิธิธรรมรักษ์นิเวศน์ วัดพระบาทน้ำพุ บอกว่า ล่าสุดมียอดผู้ป่วยเอดส์ทั่วโลกรวมกันมากกว่า 33 ล้านคน
เฉพาะเมืองไทยเวลานี้มีผู้ติดเชื้อฯ และคนเป็นเอดส์ มากกว่า 1 ล้านคน

"ผู้ติดเชื้อฯที่ได้รับยาต้านไวรัส มีเพียงไม่กี่แสนราย อีกหลายแสนรายยังไม่ได้รับยาต้านฯ เพราะติดเงื่อนไขต่างๆ และยังไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบ"

เขาบอกว่า แม้ผู้ป่วยเอดส์ยุคนี้มีอายุยืนยาวขึ้นจากการกินยาต้านไวรัส แต่สุขภาพร่างกาย หาได้แข็งแรงหรือสามารถทำงานได้อย่างมีศักยภาพเท่าเทียมกับคนปกติ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายยังมีอาการป่วยด้วยโรคแทรกซ้อนเป็นระยะ พวกเขาต้องการเงินไว้ใช้เพื่อไปหาหมอ ต้องการที่อยู่อาศัยซึ่งแวดล้อมไปด้วยผู้คนที่เข้าใจ ไม่รังเกียจ และปฏิเสธ

แต่ในความเป็นจริง ผู้ป่วยเอดส์ยุคนี้ ยังคงต้องเผชิญกับสภาพปัญหาเก่าๆ ไม่ต่างจากผู้ป่วยฯยุคเมื่อ 20 ปีที่แล้ว นั่นคือ ญาติพี่น้อง ยังไม่สามารถยอมรับให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมในบ้านหรือครอบครัวเดียวกันได้อย่างสนิทใจ ชุมชนหรือสังคมยังคงตั้งแง่รังเกียจและปฏิเสธที่จะอยู่ร่วมกับคนเป็นเอดส์

นอกจากนี้ ผู้ป่วยเอดส์ยังมักถูกละเมิดสิทธิในการตรวจเลือดก่อนรับเข้าทำงาน รวมถึงการรักษาพยาบาลที่เลือกปฏิบัติและไม่ทั่วถึง ไม่เว้นแม้แต่สิทธิที่จะได้รับการ อุปสมบท หรือ บวชเป็นพระในพุทธศาสนา

"ตามพุทธบัญญัติ ระเบียบปฏิบัติ หรือวินัยสงฆ์ มีโรคที่ห้ามบวชเป็นพระภิกษุ สามเณรไม่กี่โรค เช่น กุฏฐัง (โรคเรื้อน) คัณโฑ (โรคฝี) กิลาโส (โรคขี้กลาก) โสโส (โรคมองคร่อ หรือโรคที่มีเสมหะอยู่ที่หลอดลมปอด) เป็นต้น แต่โรคเอดส์ไม่เคยมีพุทธบัญญัติห้ามไว้ในวินัยสงฆ์"

เฉลิมพลบอกว่า แต่ในความเป็นจริง เมื่อรู้ว่าผู้จะขอบวชเป็นเอดส์ หรือแค่รู้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อเอดส์ ไม่มีอุปัชฌาย์องค์ใดยอมรับบวชให้

แม้ตามสายตาคนทั่วไปอาจมองว่าเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว ที่ไม่ควรบวชให้คนเป็นเอดส์ เพราะอาจทำให้ภาพลักษณ์ของพุทธศาสนาหม่นหมอง

แต่สำหรับผู้ป่วยเอดส์ทุกคน ที่ต้องการจะบวช ต่างเห็นว่า ก่อนที่พวกเขาจะตาย สังคมและวงการสงฆ์น่าจะให้โอกาสพวกเขาได้ทำความดีที่ยิ่งใหญ่ ครั้งสุดท้ายสักครั้ง


"ถ้ามองในแง่ความเสื่อมเสียที่อาจเกิดกับพุทธศาสนา ลองเทียบกันดู ระหว่างพระบางรูปแม้ไม่ได้เป็นเอดส์ แต่ประพฤติตนไม่สมกับผู้ครองสมณเพศ เช่น มีข่าวอื้อฉาวปรากฏตามสื่อต่างๆ เทียบกับผู้ป่วยเอดส์ ที่ตั้งใจอยากบวชและทำกุศลยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนตาย อยากถามว่า ถ้าให้เลือกทำบุญด้วย พระประเภทไหนน่ารังเกียจกว่ากัน"

ตัวเลขล่าสุดมีคนไทยนับถือศาสนาพุทธเพียง 79% ทั่วประเทศมีวัดอยู่ทั้งสิ้น กว่า 37,000 แห่งในจำนวนนี้เป็นวัดร้าง หรือวัดที่ไม่มีพระสงฆ์อยู่มากกว่า 5,000 แห่ง ขณะที่ทั่วประเทศมีภิกษุ สามเณร รวมกัน ไม่ถึง 200,000 รูป

"ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เดี๋ยวนี้มีคนบวชพระน้อยลง หรือไม่ก็บวชแค่ช่วงสั้นๆแล้วรีบสึก แทบจะหาคนที่บวชไม่ยอมสึกแทบไม่เจอ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะศรัทธาปฏิบัติของพระบางรูปที่เห็นแล้วไม่น่าศรัทธา หรือจะเป็นเพราะปัจจัยอื่น ขณะที่หลายวัดถึงขนาดไม่มีพระจำพรรษา ไม่มีเจ้าอาวาส และไม่มีใครดูแลศาสนสมบัติของทางวัด"

เฉลิมพลบอกว่า สภาพดังกล่าวที่เกิดขึ้นนับว่าน่าเป็นห่วง ขณะเดียวกันหลวงพ่ออลงกต หรือท่านเจ้าคุณพระอุดมประชาทร เจ้าอาวาสวัดพระบาท–น้ำพุ เห็นว่า ปัจจุบันที่วัดพระบาทน้ำพุมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ เพศชายจำนวนหลายร้อยคน ยามว่างคนเหล่านี้จะไปช่วยงานร่วมอยู่ในทีมบิณฑบาตกับหลวงพ่อฯตามสถานที่ต่างๆทั่วประเทศ

"หลวงพ่อท่านเห็นว่า มีผู้ป่วยเอดส์หลายคนอยากจะบวช แต่ไม่มีใครยอมบวชให้ ประกอบกับปีนี้เป็นปีพิเศษ ทางวัดได้จัดโครงการบวชถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ พระองค์หายจากพระอาการประชวร และทรงมีพระชนมายุยืนยาว หลวงพ่อจึงจัดให้มีพิธีอุปสมบทผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย"

แม้จะไม่ห้ามผู้ป่วยเอดส์บวช แต่ทางวัดก็มีการคัดกรองระดับหนึ่ง เช่น ผู้ป่วยเอดส์ที่จะบวชตามโครงการนี้ ต้องมีสภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีตุ่มคันขึ้นตามร่างกาย ไม่เป็นที่รังเกียจของผู้ที่พบเห็น สภาพจิตใจต้องมีความพร้อมที่จะเป็นพระที่ดี มีคุณภาพของสังคม

เฉลิมพลบอกว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยเอดส์จำนวนหนึ่งได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว   และถือเป็นภิกษุรุ่นแรกของ   วัดธรรมรักษ์นิเวศน์   ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ดงดินแดง อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นสาขาของวัดพระบาทน้ำพุ อยู่ห่างจากวัดพระบาทน้ำพุ 80 กิโลเมตร

เขาบอกว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์บางราย หลังจากได้บวชเป็นพระ เกิดความปีติตื้นตันถึงกับร้องไห้ ที่ช่วงสุดท้ายของชีวิตได้พุทธศาสนาช่วยชุบชีวิตของพวกเขาขึ้นมาอีกครั้ง

"หลายคนบอกผมว่า ก่อนบวชไม่เคยมีใครยกมือไหว้ ไปทางไหนมีแต่คนรังเกียจเหมือนคนไร้ค่า แต่หลังจากผู้ป่วยเอดส์ของวัดพระบาทน้ำพุ และของวัดธรรมรักษ์นิเวศน์ ได้บวชเป็นพระแล้วตั้งใจปฏิบัติศาสนกิจ ออกบิณฑบาตสวดมนต์ทำวัตร นั่งสมาธิ ศึกษาเล่าเรียนธรรมะ จนทำให้ผู้ที่พบเห็นเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงให้ความเคารพ"

เฉลิมพลบอกว่า อีกสิ่งที่สำคัญก็คือ พระผู้ป่วยเอดส์แต่ละรูปยังสามารถช่วยเหลือแบ่งเบาภารกิจของทางวัดได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการช่วยป้อนข้าว ป้อนน้ำ เช็ดตัวผู้ป่วยเอดส์ด้วยกัน รวมไปถึงคนชราที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง ซึ่งพักอยู่ตามหอผู้ป่วยของวัด รวมทั้ง พระเหล่านี้ยังช่วยจัดกิจกรรมงานศพ สวดอภิธรรมศพให้แก่ผู้ป่วยที่ถึงแก่กรรม

เฉลิมพลฝากทิ้งท้ายไว้ให้ช่วยกันคิด

"ทำอย่างไรจึงจะให้ภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ไทย ทั้งที่เป็นพระปกติ และพระที่ป่วยไม่ว่าด้วยโรคใด สามารถอยู่ร่วมกับสังคมไทยได้อย่างเกื้อกูล ปรารถนาดี มีเมตตาจิตต่อกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ถ้าทำได้ เมื่อไหร่ สังคมไทยจะเปี่ยมล้นไปด้วยความสุขอย่างแท้จริง".

  win win win
      บันทึกการเข้า

3 เหลี่ยมเขยื้้อนภูเขา เสนอโดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี มี 3 ด้าน คือ ด้านที่ 1 ด้านให้ความรู้กับกลุ่มคน ด้านที่ 2 กลุ่มคน ที่ได้รับความรู้ เห็นด้วย สร้างวัฒนธรรมไม่มีบทลงโทษถ้าไม่ทำ ด้านที่ 3 ด้านการเมือง เป็นด้านออกกฏหมาย มีบทลงโทษถ้าไม่ปฏิบัติ ถ้ามีครบ 3 ด้านจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง
  หน้า: [1]   ขึ้นบน
  
กระโดดไป:  

     

สมาคมนิสิตเก่าหอพักนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มวลสมาชิกสมาคม คณาจารย์ และนิสิตเก่าทุกคน ขอน้อมเกล้าถวายความอาลัย  พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ <;))))><