http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:nnCpOoCMRIMJ:www.tortaharn.net/contents/index.php%3Foption%3Dcom_content%26task%3Dview%26id%3D31%26Itemid%3D1+%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2&cd=3&hl=th&ct=clnk&gl=thในช่วงที่สถานการณ์ความร้อนแรงของความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นที่สนใจของเรา ๆ ท่าน ๆ จนทำให้กลบข่าวความร้อนแรงรอบบ้านที่เกิดขึ้น อย่างเช่นสถานการณ์บริเวณช่องแคบมะละกาที่มีหลายประเทศเกี่ยวข้องกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้
จากที่ผมกล่าวนำมาอย่างนี้ คิดว่าหลายท่านอาจจะสนใจแล้วว่า ช่องแคบมะละกามีความสำคัญอย่างไร? ช่องแคบมะละกาเป็นช่องแคบที่อยู่บริเวณทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย ตะวันตกและใต้ของมาเลเซีย ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือและเหนือของเกาะสุมาตรา และเลยไปถึงทางด้านใต้ของสิงค์โปร์ ช่องแคบมะละกาเป็นช่องแคบที่มีความกว้างบริเวณทางเข้าประมาณ 5 ไมล์ ยาวประมาณ 600 ไมล์ ช่วงที่แคบที่สุดประมาณ 1.5 ไมล์ มีเรือผ่านประมาณ 900 ลำต่อวัน หรือประมาณ 50,000 ลำต่อปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วมีประมาณเรือที่ผ่านมากว่าคลองสุเอซประมาณ 2 เท่า และ มากกว่าคลองปานามากว่า 3 เท่า
นอกจากนี้ช่องแคบมะละกายังเป็นช่องแคบที่ใช้ขนส่งน้ำมันวันละ 11 ล้านบาเรล โดยเฉพาอย่างยิ่งประเทศ ไทย จีน และญี่ปุ่น อาศัยช่องแคบมะละกาในการนำน้ำมันเข้าประเทศกว่า 80% ของน้ำมันที่แต่ละประเทศ และโดยรวมแล้วช่องแคบมะละกายังใช้เป็นเส้นทางในการขนส่งน้ำมันทั่วโลกกว่า 50% และยังเป็นเส้นทางขนส่งสินค้ากว่า 25% ของโลก ทั้งนี้เพราะว่าช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดที่เชื่อมต่อระหว่าง มหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้
ด้วยความสำคัญของช่องแคบมะละกาจึงเปรียบเสมือน เส้นทางคมนาคมทางทะเล (Sea Line of Communication: SLOC) ที่สำคัญ ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาสนใจ เพราะปัจจุบันภัยคุกคามจากการก่อการร้ายเป็นภัยที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวและยังส่งผลกระทบโดยตรงพลังอำนาจของชาติทางด้านเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ถ้าเกิดการก่อการร้ายบริเวณช่องแคบมะละกาอาจจะส่งผลกระทบทำให้ประเทศไทยขาดแคลนน้ำมัน เพราะน้ำมันสำรองที่ประเทศไทยมีสามารถสำรองใช้ได้เพียง 18 วัน ทั้งนี้เพราะประเทศไทยนำเข้าน้ำมันประมาณ 710,000 บาเรลต่อวัน (ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานในปี 2546)
นอกเหนือจากประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่นจะประสบปัญหาเหมือนกัน เพราะ ญี่ปุ่นนำน้ำมันเข้าประมาณ 5.57 ล้านบาเรลต่อวัน เพราะหากช่องแคบมะละกาไม่สามารถเปิดให้เดินเรือได้แล้วเรือต่าง ๆ ที่เปลี่ยนเส้นทางจะต้องเดินทางอ้อมไกลจากเดิมไปอีกกว่า 100 กม. ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นและยังส่งผลตามมาในทางจิตวิทยาที่ผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากการคาดการณ์ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการก่อการร้ายในบริเวณช่องแคบมะละกาจะเห็นได้ว่ามีผลต่อระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของแต่ละชาติ ซึ่งปัจจุบันการขนส่งทางทะเลมีความสำคัญในส่วนแบ่งของตลาดการค้าโลกถึง 90% นอกเหนือจากประเทศในภูมิภาคนี้แล้วประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ฯ เองก็มีความกังวลเป็นอย่างมาก เพราะสหรัฐ ฯ เองนั้นอาศัยการขนส่งทางทะเลถึง 80% จากทั่วโลกในการนำเข้าและส่งออกสินค้า ซึ่งสหรัฐ ฯ ถือว่าเป็นการส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์ของชาติสหรัฐ ฯ เอง
ด้วยเหตุนี้เองหลาย ๆ ท่านจึงอาจจะเคยได้ยินข่าวว่าสหรัฐ ฯ โดย พล.ร.อ. ทอมัส บี. ฟาร์โก (Admiral Thomas B. Fargo) ผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐ ฯ (Commander, US Pacific Command) เข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการการทหารของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ฯ เมื่อ 31 มี.ค. 2547 ที่นำเสนอแนวความคิดเรื่อง "ความริเริ่มเพื่อความมั่นคงทางทะเลระดับภูมิภาค" (The Regional Maritime Security Initiative: RMSI)
โดยที่ RMSI เป็นแนวความคิดที่มีความสัมพันธ์กับแนวความคิดในเรื่อง “มาตรการเพื่อความร่วมมือและสกัดกั้นการขนส่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง” (Proliferation Security Initiative: PSI) ของสหรัฐ ฯ ที่พยายามหยุดยั้งการเคลื่อนย้าย ขนส่ง ทาง บก ทางทะเล และ ทางอากาศโดยทำการตรวจค้น จับกุม หรือยึดสินค้าต้องสงสัย (สำหรับประเทศไทยเองได้มีการทำการตกลงในระดับทวิภาคีกับสหรัฐ ฯ ในเรื่อง “มาตรการเพื่อความร่วมมือในการป้องกันการขนส่งสินค้าที่ไม่ชอบธรรม” (Container Security Initial: CSI) ซึ่งจะแตกต่างจาก PSI ตรงที่มุ่งเน้นในการตรวจตู้สินค้าที่จะส่งตรงทางเรือไปยังสหรัฐ ฯ เท่านั้น แต่ PSI รวมทั้ง ทางบก ทะเล และอากาศ)
มาตรการ RMSI นั้นมีวัตถุประเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคร่วมกันสร้างความมั่นคงในทะเล โดยดำเนินการ ลาดตระเวน ตรวจจับ และเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวทางทะเลในพื้นที่ที่เป็นผลประโยชน์ และรวมไปถึงการสถาปนาขีดความสามารถทางด้านการข่าว ความสามารถในการประสานการปฏิบัติ และ การรักษากฎหมายของภูมิภาคเพื่อสกัดกั้นเรือต้องสงสัยในน่าน้ำระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดีการจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกใน RMSI คงจะต้องพิจารณาให้รอบ เพราะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกันหลายเรื่อง เช่น ความละเอียดอ่อนต่อปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค กฎหมาย และอื่น ๆ อีกหลายประการ
ดังนั้นเมื่อพิจารณาดี ๆ แล้ว จะเห็นว่าสหรัฐ ฯ เองมีความพยายามยามเป็นอย่างมากที่จะผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับช่องแคบมะละกายอมรับ และร่วมกันเป็นสมาชิกใน RMSI ดังที่ผ่านมา ในเดือน มิ.ย. 2547 ในการประชุม 2nd IISS Asia Security Conference – Shangri La Dialogue ที่ประเทศสิงค์โปร์ โดย พล.ร.อ. ทอมัส ฯ ได้นำ RMSI มาเสนอในการประชุมอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามเสียงตอบรับจากความพยายามของผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐ ฯ คงมีเพียงแต่ สิงค์โปร์ประเทศเดียว ส่วนมาเลเซีย และอินโดนีเซียต่างคัดค้างอย่างรุนแรงและแสดงจุดยืนที่ว่า ช่องแคบมะละกาเป็นเรื่องของความมั่นคงในภูมิภาค ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของประเทศในภูมิภาคนี้ทำการป้องกันกันเอง อย่างไรก็ดีอินโดนีเซียยินดีที่จะรับเงินช่วยเหลือจากนานาชาติที่จะนำมาใช้ในการรักษาความปลอดภัยบริเวณช่องแคบมะละกา ส่วนไทยนั้นไม่ได้แสดงท่าทีอะไร และ เมื่อ 20 ก.ค. 47 มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ สิงค์โปร์ ได้ร่วมกันจัดตั้ง กองกำลังลาดตระเวนทางทะเล ด้วยกองเรือจำนวน 17 ลำ ภายใต้ชื่อ “ยุทธการมาลินโด (Operation Malindo)” เพื่อทำการทำการลาดตระเวนป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายและโจรสลัดในบริเวณช่องแคบมะละกา
อีกทั้งทางกองทัพเรืออินโดนีเซียได้เพิ่มมาตรการเฝ้าตรวจลำน้ำโดยจัดเรือ 5 – 7 ลำ ทำการลาดตระเวนเพื่อป้องกันและปราบปรามโจรสลัด และยังตามมาด้วย การลงนามความร่วมมือทางทหารและแลกเปลี่ยนข่าวกรองระหว่างกันระหว่างมาเลเซียและสิงค์โปร์ ในวันที่ 27 ก.ค. 2547 ต่อมาเมื่อ 9 ส.ค. 2547 มาเลเซียประจัดตั้งหน่วยรักษาฝั่งที่มีโครงสร้างการจัดคล้าย ๆ กับ หน่วยรักษาฝั่งของสหรัฐ ฯ (US Coast Guard) ภายในต้นปี 2548 เพื่อการกู้ภัยและช่วยเหลือทางทะเล
จากมาตรการต่าง ๆ ที่ประเทศรอบ ๆ ช่องแคบมะละกาได้ดำเนินการสามารถใช้เป็นสิ่งบอกเหตุว่า แต่ละประเทศต่างก็มีความกังวลกับความปลอดภัยและเสถียรภาพของภูมิภาคนี้ และไม่ต้องการให้ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐ ฯ เข้ามาแทรกแซง เมื่อถึงตรงนี้ผมคิดว่า เรา ๆ ท่าน ๆ คงจะมีคำถามในใจว่าทำไม? สหรัฐ ฯ ถึงได้ให้ความสนใจมากนักในบริเวณช่องแคบมะละกา และพร้อมที่จัดตั้งกองกำลังเข้ามาร่วมในการทำการลาดตระเวนน่านน้ำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐ ฯ ในมุมมองด้านการรักษา SLOC เท่านั้นหรือ? เพราะสหรัฐ ฯ เองได้ทุ่มเททรัพยากรทางทหารจำนวนมากไปในอิรักและในอัฟกานิสถาน หรือว่าสหรัฐ ฯ จะมีวาระซ่อนเร้นที่แอบอยู่ภายใต้มาตรการ RMSI?
เมื่อกล่าวถึงสหรัฐ ฯ แล้วหลาย ๆ ท่านอาจจะไม่ทราบว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ฯ ได้ประกาศว่าเส้นการคมนาคมทางทะเล (SLOC) และจุดสกัดกั้นทางทะเล (Chokepoint) เปรียบเสมือน เส้นทางการคมนาคมหลักและพื้นที่ถ่ายสิ้นค้า (US Lifelines and Transit Regions) จำนวน 8 ช่องทาง คือ
(1) คลองปานามา ที่อยู่บริเวณ ทะเลคาริบเบียนในอ่าวเม็กซิโก
(2) ช่องแคบและคลองหลายคลองบริเวณ ทะเลบอลติกและทะเลเหนือ
(3) ช่องแคบยิบรอนต้าที่อยู่บริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลดำ รวมถึงช่องทางเข้าสู่ตะวันออกกลาง
(4) คลองสุเอซที่อยู่บริเวณทางทิศตะวันตกของหาสมุทรอินเดียและช่องแคบแห่งฮอมุซและบริเวณรอบ ๆ อัฟริกาใต้ถึงบริเวณคลองโมซัมบิก
(5) ช่องแคบมะละกา และ ลอมบอด บริเวณทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ SLOC ที่ผ่านหมู่เกาะสแปรทลีย์
(6) SLOC สำคัญบริเวณทะเลในเอเซียตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เข้าสู่ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และรัสเซีย
(7) SLOC ที่สำคัญบริเวณ ตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เข้าสู่ ออสเตรเลีย
(
ช่องแคบเบอริ่ง ที่ในมหาสมุทรอาร์คติก
สาเหตุที่สหรัฐ ฯ กำหนดความสำคัญของ ช่องแคบ และ SLOC ต่าง ๆ ก็เพราะว่าสหรัฐ ฯ เคยประสบปัญหาต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในช่วงสงครามระหว่าอิรักและอิหร่าน (ช่วงปี พ.ศ. 2523 – 2531) เนื่องจากน้ำมันที่ใช้ในประเทศสหรัฐ ฯ นั้นมากกว่าครึ่งนั้นนำเข้าจากต่างประเทศโดยนำเข้าส่วนใหญ่นั้นมาจากซาอุดิอารเบีย ซึ่งจะต้องขนส่งทางทะเลมากกว่า 800 ไมล์ทะเล ผ่านทาง SLOC บริเวณทิศตะวันตกของหาสมุทรอินเดีย ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลดำ และรวมถึงทะเลคาริบเบียนในอ่าวเม็กซิโก เพราะในช่วงสงครามดังกล่าว มีเรือขนส่งถูกโจมตีระหว่างเดินทาง 543 ครั้ง และกลาสีบนเรือ มากกว่า 200 ชีวิตได้สูญเสียไปในระหว่างที่ถูกโจมตี (ในจำนวนนี้เป็นชาวสหรัฐ ฯ 53 คน) โดยทั้งเรือเดินสมุทรและเรือรบนั้นเสียหายจนใช้งานไม่ได้ถึง 80 ลำ ส่วนคลังสินค้าและลำเรือเสียหายทั้งหมดกว่า 2 พันล้านเหรียญ และยังส่งผลให้เบี้ยประกันสูงขึ้นถึง 200% และผลกระทบที่ตามมาคือราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จากราคาในขณะนั้น บาเรลละ 13 เหรียญสหรัฐ ไปเป็น 31 เหรียญสหรัฐ ฯ ซึ่งทำให้ราคาสินค้าทั่วโลกขยับตัวสูงขึ้นเป็นมูลค่ารวมถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
จากตัวอย่างความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสหรัฐ ฯ และเศรษฐกิจโลกในห้วงสงครามอิรัก-อิหร่าน จะเห็นได้ว่า SLOC ที่สำคัญ รอบ ๆ โลกนั้นย่อมจะส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจของโลก ซึ่งในอนาคตถ้าเกิดเหตุกาก่อการร้าย หรือเหตุใด ๆ ก็ตามที่ส่งผลให้ SLOC สำคัญ ๆ ไม่สามารถใช้ทำการเดินเรือได้ โดยเฉพาะอย่าง บริเวณช่องแคบมะละกา ที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านสูงที่สุดใน 8 พื้นที่ตามที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ฯ ประกาศไว้ และยังมีบริเวณที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เส้นทางเดินเรือบริเวณหมู่เกาะสแปรทลีย์
และจากแหล่งข่าวหลาย ๆ ที่นั้นต่างก็มีรายงานข่าวไปในทำนองเดียวกันว่าในปีหน้า (2548) การก่อการร้ายจะพุ่งเป้ามาที่ช่องแคบที่สำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่องแคบมะละกา ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่กลุ่มอัลกออิดะห์ ให้ความสนใจเพราะสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจสหรัฐ ฯ และโลกได้อย่างมหาศาลด้วยการลงทุนที่ต่ำ
มาถึงตรงนี้คิดว่าหลาย ๆ ท่านคงจะเริ่มปะติดปะต่อภาพและมองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่าทำไม่สหรัฐ ฯ ถึงให้ความสนใจในบริเวณช่องแคบมะละกา และมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะนำกำลังเข้ามารักษาความปลอดภัย ท่ามกลางการต่อต้านของมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพราะถ้ายินยอมให้สหรัฐ ฯ นำกำลังเข้ามาในภูมิภาคนี้แล้ว เห็นทีจะเป็นการเชื้อเชิญผู้ก่อการร้ายเข้ามาร่วมทำสังฆกรรม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแน่แท้ นี่แหละครับสาเหตุว่าทำไมช่องแคบมะละกาจึงเป็นเรื่องที่ไม่แคบอย่างที่ดิค เพราะ ผลประโยชน์ของชาติใด ชาตินั้นก็ต้องรักษาไว้ สวัสดีครับ ...............