เด็กยุคใหม่...ไร้ภูมิคุ้มกัน
ครอบครัว เรื่องเด่น
ภารกิจด่วนแม่ไทย'เติมทุนชีวิตลูก'
"ค่านิยมการเลี้ยงลูกโดยเน้นการเสริมสร้างทุนปัญญาเพียงอย่างเดียว เพื่อนำไปสู่เป้าหมายคือความสำเร็จในหน้าที่การงานและผล
ตอบแทนจำนวนมหาศาล ทัศนคติในการเลี้ยงลูกสมัยใหม่นี้ได้ส่งผลกระทบต่อทุนชีวิตและภูมิคุ้มกันตัวเองที่ขาดหายไปของเด็กไทย
ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นในสังคมมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและเยาวชนเอง ซึ่งผลที่ตามมาก็คือการมีพฤติกรรมเสี่ยง”
...นี่เป็นสถานการณ์เด็กและเยาวชนไทย - คนไทยรุ่นใหม่ ที่ทางคณะทำงานแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน “เด็กพลัส” สำนักงาน
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยออกมา ก่อนที่ “วันแม่” จะเวียนมาถึงอีกครั้งในวันที่ 12 ส.ค. 2552 พร้อมๆ กับ
มีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสำคัญปัญหานี้
“ทุนปัญญา” ถูกจุดพลุในไทย...ว่าสำคัญ แต่...จะเกิดปัญหาหากละเลย “ทุนชีวิต !!”
กับเรื่องนี้ นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน ที่กล่าวมาข้างต้น บอกว่า... “ทุนชีวิต” นั้นหมายถึงต้นทุนขั้น
พื้นฐานที่มีผลต่อการพัฒนาการทางด้านจิตใจ สังคม และสติปัญญาของคนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงบวกด้านจิตใจที่จะหล่อหลอมให้
เด็กเติบโตและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งทุนชีวิตนี้จะเกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูและปลูกฝังของครอบครัวและสิ่งแวดล้อม
ตั้งแต่เยาว์วัย ถ้าเด็กมีต้นทุนชีวิตที่ไม่แข็งแรงจะก่อให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงและปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง... เซ็กส์ ยาเสพติด ความ
รุนแรง ฯลฯ
ทั้งนี้ ทางแผนงานได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “ต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทย” และพบว่าปัจจุบันทรรศนะในการเลี้ยงดูลูกของพ่อและแม่ โดย
เฉพาะ “แม่” ได้เปลี่ยนไป มักจะเน้นปัจจัยเพียง 2 ด้านคือ “เงิน” และ “ปัญญา” โดยมีเป้าหมาย คือ เลี้ยงลูกอย่างไรให้เติบโตขึ้นมีหน้า
ที่การงานที่ดี มีอาชีพที่สร้างรายได้จำนวนมาก
“ปัจจุบันบทบาทของแม่ในการสร้างทุนชีวิตให้ลูกแต่ละด้านมีน้อยมาก และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ แม่ให้ความสำคัญกับทุนชีวิตด้านต่างๆ
ไม่ถึง 50% ทำให้แนวโน้มของเด็กไทยจะเคร่งเครียดกับการเรียนมากขึ้น โอกาสที่เด็กจะยึดติดกับวัตถุนิยมก็สูงขึ้น ซึ่งต้นเหตุของพฤติ
กรรมเสี่ยงในทุกๆ เรื่องที่เป็นปัญหาของสังคมในปัจจุบัน ล้วนเกิดขึ้นมาจากการมีต้นทุนชีวิตที่ต่ำ ดังนั้น ต้นทุนชีวิตคือเหตุแห่งปัญหา
ถ้าเราสามารถเติมทุนชีวิตได้ ปัญหาต่างๆ ก็จะลดลง”
นพ.สุริยเดวบอกอีกว่า... พ่อ - แม่สมัยใหม่ต่างเติบโตขึ้นมาด้วยทัศนคติของ “เงิน” และ “ปัญญา” เป็นเป้าหมายชีวิต โดยหลงลืม “ทุน
ชีวิต” ในด้านต่างๆ ส่งผลให้เกิดสังคมไทยที่ขาดความเอื้ออาทรเมตตาปรานี ชุมชนและสังคมอยู่แบบตัวใครมันตัว ขาดการเฝ้าระวัง ส่ง
ผลให้พื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นพื้นที่ดีก็จะหายไป เด็กไทยขาดสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ หันไปยึดติดวัตถุนิยมตามกระแสสังคม เด็กไทยขาดความ
คิดสร้างสรรค์เนื่องจากคิดนอกกรอบไม่เป็น และสุดท้ายก็จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความซื่อสัตย์ต่อตนเองและคนอื่นๆ
“จากการศึกษาพบว่าทุนชีวิตของเด็กไทยที่อ่อนแอ และต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนมากที่สุดมีอยู่ 5 ข้อคือ... การเป็นผู้ให้หรือจิตอาสา,
การร่วมกิจกรรมทางศาสนา, ความรู้สึกมีคุณค่าต่อชุมชน, การได้ทำกิจกรรมนอกกรอบ, การพูดความจริง ซึ่งบทบาทของแม่สามารถช่วยแก้
ปัญหาเหล่านี้ได้ แต่แม่ต้องเรียนรู้ว่าลูกมีการเรียนรู้ในอีกมิติหนึ่งนอกเหนือไปจากการเรียนปกติด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ลูกเป็นคนมากขึ้น ไม่
ได้เป็นเหมือนหุ่นยนต์ โดยแม่จะต้องให้ความสำคัญกับเทคนิค วิธีการ และกิจกรรมต่างๆ ที่จะเติมทุนชีวิตที่บกพร่องเหล่านี้ให้กับลูก”
...นพ.สุริยเดวระบุ ขณะที่ วันชัย บุญประชา ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะครอบครัว เสริมว่า... เพราะสังคมไทยเปลี่ยนไป มีอัตราการหย่า
ร้างสูง ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ทำให้เกิดแม่ยุคใหม่ 2 ลักษณะคือ “แม่ที่ปกป้องลูก” และ “แม่ที่ทอดทิ้งลูก” ซึ่งทั้ง 2 ลักษณะนี้ถ้ามาก
เกินไปก็จะเกิดปัญหา โดย สสส. ก็มีโครงการ “ขจัดร้ายขยายดี สร้างภูมิคุ้มกัน” ที่พยายามแก้ปัญหานี้ โดยจัดให้มีพื้นที่เพื่อทำเรื่องครอบ
ครัวสุขภาวะในโรงเรียนและในชุมชน
วันชัยระบุด้วยว่า... การปกป้องลูก - ปรนเปรอให้ความสะดวกสบายมากเกินไป ทำให้เด็กยึดถือตัวเองเป็นใหญ่ ขาดทักษะจัดการปัญหา
ส่วนการทอดทิ้งลูกที่มีเพิ่มขึ้นจากการที่แม่ต้องทำงาน ถ้าทิ้งมากไปก็ทำให้เด็กต้องไปเรียนรู้นอกบ้าน จนเป็นเด็กกร้านชีวิต ก้าวร้าวรุน
แรง เบียดเบียนคนอื่นๆ
ทางด้าน พญ.ชนิกา ตู้จินดา คณะกรรมการ สสส. ก็ระบุถึงประเด็น “ต้นทุนชีวิต” ว่า... เป็นสิ่งที่สร้างหรือเติมให้ลูกได้โดยไม่เกี่ยวว่า
ต้องมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย อย่างการ “ให้นมลูกจากอกแม่” ก็ถือว่าใช่เช่นกัน เป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกัน และลูกจะสัมผัสได้ถึงความรัก
อบอุ่น ปลอดภัย และหากทำสิ่งดีต่างๆ ให้ลูกรู้สึกถึงความรู้สึกดีเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเติบโตขึ้นลูกก็จะมี “ทุนชีวิต” ที่ดี นำพาให้
เด็กไปสู่ความเป็นคนดี
“แม่สร้างทุนชีวิตให้ลูกได้โดยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีตั้งแต่หลังคลอด แม่มีอิทธิพลกับลูกมากกว่าพ่อ ทั้งความใกล้ชิด ละเอียดอ่อน เอา
ใจใส่ แต่ปัจจุบันแม่มีแนวโน้มตามใจลูกมากขึ้น ทำให้เด็กด้อยระเบียบวินัย เอาแต่ใจ ดูแลตัวเองไม่ได้ ซึ่งในโอกาสวันแม่ที่กำลังจะมาถึง
ผู้เป็นแม่น่าจะได้ใช้เป็นโอกาสสำคัญในการทบทวนบทบาทของตนเองในการเลี้ยงดูลูก” ...พญ.ชนิกาทิ้งท้ายให้แม่ไทยทั้งหลายได้ลอง
พิจารณาว่าจะสร้างให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นคน “เก่งแต่ร้าย - เก่งแต่โกง” หรือเป็นคน “ดี” ที่ “สร้างสุขให้ชีวิต” ได้อย่างแท้จริง
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update 09-08-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก
www.thaihealth.or.th