http://www.bangkokbiznews.com/home/news/property/property/2009/01/23/news_9642.phpหลายคนที่อาจยังไม่เข้าใจวิธีการคิดฐานภาษี อาจงงๆ ว่า สรุปแล้วมาตรการนี้ ใครจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน? หาคำตอบได้ที่นี่
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมาอนุมัติมาตรการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านภายในปีนี้ได้รับสิทธิการนำเงินต้นในการซื้อบ้านไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมิน หรือรายได้ก่อนการคิดภาษีได้ 3 แสนบาท และสำหรับผู้กู้ซื้อบ้านสามารถนำส่วนที่เป็นดอกเบี้ยมาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ปีแรกสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษที่ช่วยผู้ซื้อบ้านในระยะเวลา 1 ปี และไม่จำกัดราคาที่อยู่อาศัย
มาตรการนี้ ท่านผู้อ่านจะได้ประโยชน์หรือไม่? ลองคิดตามไปคร่าวๆ ได้เลย
ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้ที่มีรายได้ 1 - 150,000 บาทต่อปี ได้รับยกเว้นชำระภาษี
ผู้ที่มีรายได้ 150,001 - 500,000 บาทต่อปี ต้องชำระภาษีในอัตรา 10%
ผู้ที่มีรายได้ 500,001 - 1,000,000 บาทต่อปี ต้องชำระภาษีในอัตรา 20%
ผู้ที่มีรายได้ 1,000,001 - 4,000,000 บาทต่อปี ต้องชำระภาษีในอัตรา 30%
ผู้ที่มีรายได้ 4,000,001 บาทขึ้นไปต่อปี ต้องชำระภาษีในอัตรา 37%
ปกติแล้ว ผู้มีรายได้ในระดับที่ต้องเสียภาษีนั้น มีรายการที่สามารถหักลดหย่อนและยกเว้นหลังจากหักค่าใช้จ่ายได้ 11 รายการด้วยกัน ประกอบด้วย ตัวเอง หากมีสามี หรือภรรยา ก็สามารถหักลดหย่อนสามี หรือภรรยาได้ หากมีบุตรสามารถหักลดหย่อนบุตรได้ หากบิดา มารดามีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปสามารถหักลดหย่อนได้เช่นกัน
นอกจากนี้ เบี้ยประกันชีวิต เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อนการเลี้ยงชีพ ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าต่างๆ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
มาตรการที่รัฐบาลออกมานั้น ก็จะเข้าไปเสริมในส่วนของรายการที่สามารถหักลดหย่อนและยกเว้นหลังจากหักค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเข้าไปอีก จำนวน 300,000 บาท ไม่ว่าผู้ซื้อบ้านจะซื้อบ้านระดับราคาเท่าไรก็ตาม สามารถนำไปหักค่าลดหย่อนได้เต็มจำนวน 3 แสนบาท
ส่วนรายการดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน สามารถหักลดหย่อนและยกเว้นหลังจากหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท (เป็นรายการที่มีอยู่แล้ว)
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จึงขอนำเสนอเรื่องนี้ตามแบบที่นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เล่าให้ฟังอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าผู้ซื้อบ้านด้วยเงินสดในปีนี้ และมีฐานรายได้ต่อปีเกิน 150,000 บาท ต้องเสียภาษีนั้น สามารถหักค่าลดหย่อนเงินต้นในการซื้อบ้านได้ 3 แสนบาท ส่วนกรณีที่ผู้ซื้อบ้านเป็นเงินกู้ และมีฐานรายได้ต่อปีเกิน 150,000 บาท สามารถหักค่าลดหย่อนเงินต้นในการซื้อบ้านได้ 300,000 บาท และยังสามารถนำดอกเบี้ยมาหักลดหย่อนได้อีกสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
วิธีคำนวณง่ายๆ คือ สมมุติว่า เราเป็นคนโสด มีเงินเดือน เดือนละ 20,000 บาท เท่ากับมีรายได้ต่อปี 240,000 บาท หักค่าใช้จ่าย ร้อยละ 40 ของรายได้ คิดเป็น 60,000 บาท คงเหลือ 180,000 บาท หักลดหย่อนตัวเองได้ 30,000 บาท เหลือ 150,000 บาท ตามกฎหมายรายได้ 150,000 บาทแรกได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนำมาคิดภาษี
สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าคุณเป็นคนที่มีเงินเดือน 20,000 บาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยราคาประมาณ 1-1.5 ล้านบาท และตัดสินใจซื้อบ้านในปีนี้ ก็ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการที่รัฐให้ค่าลดหย่อนเงินต้นซื้อบ้าน 300,000 บาท เพราะจากรายได้ของคุณเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว ก็ไม่ต้องเสียภาษีอยู่ดี และคนที่มีกำลังซื้อบ้านต่ำกว่า 1 ล้านบาทก็ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้เลย
รายได้น้อย ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ซื้อบ้านราคาถูก รัฐก็ไม่ได้ช่วยลดภาระด้านการซื้อบ้านให้ ขณะที่ผู้มีรายได้สูง ซื้อบ้านราคาแพง เหมือนมีรัฐมาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านให้ ยิ่งมีรายได้มาก ยิ่งได้รับสิทธิประโยชน์มาก
สำหรับคนที่มีเงินเดือนมากกว่า 20,000 บาทขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง 30,000 บาท และตัดสินใจซื้อบ้านในปีนี้ ยังพอได้รับสิทธิประโยชน์บ้าง
แต่คนที่ได้รับสิทธิประโยชน์นี้แบบเต็มๆ น่าจะเป็นคนที่มีเงินเดือน 30,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถในการซื้อบ้านระดับราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป
ตัวอย่าง คนโสดมีเงินเดือนขึ้นมาอยู่ที่ 30,000 บาทต่อเดือน เท่ากับมีรายได้ 360,000 บาทต่อปี หักค่าใช้จ่าย ร้อยละ 40 ของรายได้ คิดเป็น 60,000 บาท คงเหลือ 300,000 บาท หักลดหย่อนตัวเองได้ 30,000 บาท เหลือ 270,000 บาท กรณีที่ไม่มีรายการลดหย่อนอื่นๆ ปกติแล้วจะต้องเสียภาษี 12,000 บาท แต่ถ้าซื้อบ้านในปีนี้ คนกลุ่มนี้ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ไปเต็มๆ ไม่ต้องเสียภาษีที่กล่าวถึง และหากเสียภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไปแล้ว ก็สามารถขอภาษีคืนได้เต็มจำนวนอีกด้วย
ลองมาดูตัวอย่างของคนที่มีเงินเดือนสูงๆ กันบ้าง คนโสดที่มีรายได้ 40,000 บาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการซื้อบ้านระดับราคา 4 ล้านบาท มีรายได้ต่อปีที่ 480,000 บาท หักค่าใช้จ่าย ร้อยละ 40 ของรายได้ คิดเป็น 60,000 บาท คงเหลือ 420,000 บาท หักลดหย่อนตัวเองได้ 30,000 บาท เหลือ 390,000 บาท หากคนกลุ่มนี้ไม่มีรายการลดหย่อนอื่นๆ ปกติแล้วจะต้องเสียภาษีอยู่ที่ 24,000 บาท แต่หากซื้อบ้านในปีนี้ คนกลุ่มนี้ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ไป
ส่วนคนที่มีเงินเดือน 50,000 บาทต่อเดือน มีความสามารถในการซื้อบ้านระดับราคา 6 ล้านบาท รวมมีรายได้ 600,000 บาทต่อปี หากคนกลุ่มนี้ไม่มีรายการลดหย่อนอื่นๆ ปกติแล้วจะต้องเสียภาษีอยู่ที่ 37,000 บาท แต่หากซื้อบ้านในปีนี้ และไม่มีรายการลดหย่อนอื่นๆ คนกลุ่มนี้ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ไป ทำให้เสียภาษีอยู่ที่เพียง 6,000 บาทเท่านั้น แต่หากมีรายการลดหย่อนอื่นๆ อีก ก็มีโอกาสที่จะไม่ต้องเสียภาษีเลย
ขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้ต่อเดือนระดับแสนขึ้นไป คนกลุ่มนี้มีความสามารถในการซื้อบ้านระดับ 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยคนกลุ่มนี้จะมีรายได้ต่อปีเกินกว่า 4 ล้านบาท หากคนกลุ่มนี้ไม่มีรายการลดหย่อนอื่นๆ ปกติแล้วจะต้องเสียภาษีมากกว่า 1 ล้านบาทต่อปี แต่หากซื้อบ้านในปีนี้ และไม่มีรายการลดหย่อนอื่นๆ คนกลุ่มนี้ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ไป ทำให้เสียภาษีอยู่ประมาณ 9 แสนบาทกว่าบาท แต่หากมีรายการลดหย่อนอื่นๆ อีก ก็จะยิ่งเสียภาษีน้อยลง
จากการประเมินอย่างคร่าวๆ แล้ว กลุ่มคนที่น่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้มากที่สุดคือผู้มีเงินรายได้ตั้งแต่ 3-5 หมื่นบาท คนกลุ่มนี้จากที่เคยเสียภาษี หากซื้อบ้านในปีนี้และได้ค่าลดหย่อนเพิ่มจากการซื้อบ้านอีก 3 แสนบาท จะไม่ต้องเสียภาษี จึงถือว่าสร้างแรงจูงใจให้กับคนกลุ่มนี้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม หากคิดจากฐานรายได้ของคนสองคนที่จะซื้อบ้านสร้างครอบครัวจะทำให้ฐานรายได้รวมขยับเพิ่มขึ้นได้อีก โดยประเมินกันว่า รายได้ของครอบครัวเริ่มต้นไม่น่าจะเกิน 1 แสนบาท ต่อเดือน ที่อยู่อาศัยที่จะได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว คือ คือบ้านตั้งแต่ราคา 1.5- 5 ล้านบาทโดยประมาณ
มาตรการนี้ คนที่ได้เฮ! คงเป็นฝั่งของผู้ประกอบการที่มีบ้านพร้อมอยู่ราคาประมาณ 3-5 ล้านบาทในสต๊อกตัวเองจำนวนมาก ได้โอกาสเคลียร์ก็คราวนี้
งานนี้ แม้ว่าประโยชน์จะเป็นของประชาชนส่วนหนึ่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ประกอบการก็รับไปเต็มๆ เช่นเดียวกัน
เรื่องโดย สุกัญญา สินถิรศักดิ์ (
sukanya_sin@nationgroup.com)