http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9500000123332นักธุรกิจอุบลฯเจ๋ง! คนแรกของโลก ค้นพบวิธีผลิต “ไบโอดีเซล 100%”
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 17 ตุลาคม 2550 18:30 น. นายพิชาญ จันทร์เจริญชัย อายุ 47 ปี เจ้าของบริษัทสหัสวรรษไบโอดีเซลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
อุบลราชธานี- ฮือฮานักธุรกิจค้าน้ำมันไขมันสัตว์-พืช จ.อุบลฯ ใช้เวลากว่า 4 ปี วิจัยพบสูตรการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ที่ให้ประสิทธิเหมือนน้ำมันดีเซลทุกประการ ทั้งยังค้นพบการนำ “กลีเซอรีน” สารตกค้างในกระบวนการผลิตไบโอดีเซลที่ไร้ค่า นำกลับมาใช้ผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้เป็นรายแรกของโลก เผยช่วยลดต้นทุนการผลิตน้ำมันชนิดนี้ลดลงกว่า 300% โดยเจ้าตัวจดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ได้มีการค้นพบการลดต้นทุนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลที่ให้ประสิทธิภาพเต็ม 100% เทียบเท่าการใช้น้ำมันดีเซล นอกจากนี้ ยังนำกากตกค้างจากกระบวนการผลิต หมุนเวียนกลับมาใช้ทำน้ำมันชนิดเดียวกัน และมีประสิทธิภาพทัดเทียมกันด้วย
ทั้งนี้ ผู้ที่สามารถค้นคว้าสำเร็จรายนี้ คือ นายพิชาญ จันทร์เจริญชัย อายุ 47 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยช่างกลปทุมวัน เจ้าของบริษัท สหัสวรรษไบโอดีเซลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เลขที่ 48 หมู่ 9 บ้านทุ่งหว้า อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
นายพิชาญ กล่าวถึงแนวคิดผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ว่า เกิดขึ้นเมื่อกว่า 4 ปีก่อน ขณะราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจจำหน่ายไอศกรีมซึ่งตนทำอยู่ โดยต้องใช้รถเป็นพาหนะขนส่งไปให้ลูกค้าหลายคัน แบกภาระใช้น้ำมันวันละกว่า 400 ลิตร เริ่มแรกได้ทดลองค้นคว้าและหาความรู้จาก นายสมอทอง แนวชัยน้ำ ผู้รู้กระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลดีคนหนึ่งของประเทศไทย และได้ซื้อเครื่องใช้ผลิตน้ำมันไบโอดีเซลมาทดลองทำใช้เองที่บ้านพัก
เบื้องต้นสามารถผลิตน้ำมันได้ประมาณวันละ 50 ลิตร และนำไปทดลองใช้ในรถยนต์ขนส่งไอศกรีมของตน แต่การใช้น้ำมันไบโอดีเซลในระยะแรกประสบปัญหาไส้กรองน้ำมันอุดตัน ต้องเปลี่ยนไส้กรองใหม่ทุกเดือน ตนจึงได้เริ่มค้นคว้าหาวิธีแก้ไขกระบวนการผลิต ไม่ให้น้ำมันที่ใช้ ทำให้ไส้กรองน้ำมันอุดตัน ก็ประสบความสำเร็จสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จึงขยายกำลังผลิตน้ำมันไบโอดีเซลออกขาย ซึ่งโรงงานปัจจุบันผลิตได้วันละกว่า 1,000 ลิตร มีลูกค้าผู้ใช้รถยนต์ให้ความสนใจเข้ามาใช้บริการ เพราะน้ำมันไบโอดีเซลมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลเฉลี่ยลิตรละ 3-4 บาท
นายพิชาญใช้เวลากว่า 4 ปีศึกษาค้นคว้าการผลิตไบโอดีเซลประสิทธิภาพสูง 100 %
อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณต้นปี 2549 วัตถุดิบที่ใช้ผลิตน้ำมันไบโอดีเซล เช่น ไขมันสัตว์ ไขมันพืช และจากน้ำมันใช้แล้วมีราคาแพงขึ้น ประกอบกับกระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจะมีกาก “กลีเซอรีน” ตกค้างราว 20% โดยกากกลีเซอรีนไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะให้เพียงพลังความร้อนอย่างเดียว
นายพิชาญ กล่าวว่า ตนจึงได้เริ่มทดลองค้นคว้ากระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ที่ไม่มีกากกลีเซอรีนตกค้าง โดยใช้เวลากว่า 1 ปี ก็ค้นพบกระบวนการทำปฏิกิริยาระหว่างการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งสามารถทำการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล โดยไม่ให้มีกากกลีเซอรีนตกค้าง คือ สามารถผลิตน้ำมันไบโอดีเซลได้เต็ม 100% ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพ ในการให้พลังงานของน้ำมันเท่าเทียมกับน้ำมันดีเซลที่ใช้อยู่ทุกประการ เช่น น้ำมันดีเซลมีความสามารถให้ระยะทาง 10 กิโลเมตร/ลิตร น้ำมันไบโอดีเซล ที่ผ่านการผลิตที่ไม่มีกากกลีเซอรีนตกค้างก็สามารถใช้งานได้ระยะเท่ากัน
นายพิชาญ กล่าวต่อว่า เมื่อค้นพบกระบวนการทำปฏิกิริยาไม่ให้มีกากกลีเซอรีนตกค้างในน้ำมันไบโอดีเซลสำเร็จ จึงได้ศึกษาค้นคว้านำเอาเฉพาะกากกลีเซอรีน ที่โรงงานผลิตไบโอดีเซลทิ้งในแต่ละวัน นำกลับมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งก็สามารถผลิตใช้เป็นน้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูงเท่าเทียมกับน้ำมันดีเซลได้เช่นกัน
การนำกากกลีเซอรีนมาผลิตยังมีผลดีต่อโลก คือ สามารถกำจัดกากทิ้งไม่ให้เหลือตกค้าง เพราะกากกลีเซอรีนถูกนำไปใช้ในการเผาไหม้ตามโรงงานที่ต้องการความร้อน แต่การเผาไหม้ที่ไม่ถูกวิธีจะเกิดเป็นมลพิษ ส่งผลต่อชั้นบรรยากาศของอากาศ ทำให้โลกร้อนยิ่งขึ้น
สำหรับการนำกากกลีเซอรีนมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลทั้งหมด นอกจากช่วยลดมลพิษทางอ้อม น้ำมันไบโอดีเซลยังเป็นน้ำมันบริสุทธิ์ไม่มีสารใดๆ เหลือตกค้างในกระบวนการเผาไหม้ผ่านเครื่องยนต์ของรถยนต์ และมีผลต่อผู้ผลิตน้ำมันไบโอดีเซลโดยตรง เพราะการนำกากกลีเซอรีนมาผ่านกระบวนผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลมีต้นทุนเพียง 8 บาท/ลิตร จากปกติมีต้นทุนการผลิตลิตรละ 22-23 บาท/ลิตร ลดลงร่วม 300%
“ผลการวิจัยค้นคว้าครั้งนี้ ผ่านการตรวจสอบรับรองผลจากศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผมได้ทำการจดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้แล้ว” นายพิชาญ กล่าวและระบุเพิ่มเติมว่า
การค้นคว้ากระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ไม่มีสารกลีเซอรีนเหลือค้าง และการนำกลีเซอรีนกลับมาผลิตเป็นน้ำมันใหม่ดังกล่าว ขณะนี้ยังไม่มีใครสามารถค้นคว้าได้ ตนจึงถือเป็นผู้ผลิตรายแรกของโลก
ปัจจุบันประเทศไทยมีกลีเซอรีนที่เหลือจากการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลประมาณวันละ 400,000 ลิตร โดย 200,000 ลิตรเป็นกากกลีเซอรีนของบริษัท ปตท.ที่เหลือกระจายอยู่ตามโรงงานผลิตน้ำมันต่างๆ ทั่วประเทศ กระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลโดยไม่มีกลีเซอรีนเหลือค้าง จะทำให้ประเทศสามารถลดการนำเข้าน้ำมันดีเซลได้อีกวันละกว่า 400,000 ลิตรด้วย